ชาวโนนสูง ต.คุ้มเก่าจ.กาฬสินธุ์ครอบครัวมีสุขอยู่พร้อมหน้าเมื่อมีน้ำเพียงพอตลอดปี

 

 

“...ต้องมีน้ำบริโภค  น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น  ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้  ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้  แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...

                                  พระราชดำรัสเมื่อวันที่  17 มีนาคม  2529

                                         ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโครงการลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกษตรกรส่วนมากอาศัยเฉพาะน้ำฝน  ถ้าปีไหนฝนดีตกต้องตามฤดูกาลก็อาจจะได้ผลผลิตดี  ถ้าฝนน้อยจะทำให้ได้ผลผลิตต่ำมาก พื้นที่แห้งแล้งหาน้ำให้สัตว์เลี้ยงยังยาก นายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ ผู้ใหญ่บ้านโนนสูง บ้านโนนสูง หมู่ที่ 7 ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์  บอกผู้สื่อข่าวในระหว่างการเตรียมต้อนรับ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายหทัย วสุนันต์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการฯ สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ

ผู้ใหญ่บ้านโนนสูงเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า แต่ก่อนพื้นที่ที่นี่แห้งแล้งกันดาร  ถ้าต้องการน้ำเพื่อเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย หรือน้ำบริโภคของคนจะหายากมาก หลังจากได้รับน้ำจากโครงการฯ ก็สร้างความเป็นอยู่ให้เกษตรกรในพื้นที่ดีขึ้นมาก บางรายปรับพื้นที่มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้การทำนาสามารถเพิ่มผลผลิตเป็นเท่าตัว

นายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ บอกกับผู้สื่อข่าวอีกว่า ในส่วนตัวและครอบครัวนั้นได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่บนที่ดินจำนวน 12 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนที่ 1 ขุดสระเก็บกักน้ำ และเลี้ยงปลา ส่วนที่ 2 ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผักสวนครัว ในลักษณะผสมผสานกันหลากหลายชนิด ส่วนที่ 3 ทำนาข้าวเหนียวเขาวง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวเขาวง ปลูกเพื่อบริโภค และส่วนที่ 4 เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ โรงเรือนอื่น ๆ  เมื่อได้ผลผลิตทางการเกษตรนำไปขายเองในหมู่บ้าน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงเนื่องจากไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  

       ผมมีที่ดินทั้งหมด 12 ไร่ ก่อนที่ยังไม่มีโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำนาอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว พอหน้าแล้งไม่ได้ทำอะไรปล่อยทิ้งไว้ หลังจากที่ได้โครงการฯ มีน้ำตลอดทั้งปีจึงปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก หน้าแล้งปลูกพืชเสริม ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชผัก  ปลูกมะเขือเทศส่งโรงงาน และเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีรายได้เพิ่ม ความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนข้าวจะปลูกข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อในพื้นที่ เพราะเป็นข้าวที่ได้รับการรับรองว่าเป็นข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีคุณภาพดีระดับหนึ่งของประเทศ ถ้าเอาไปแปรรูปส่งขายราคาจะดีขึ้น ตอนนี้ผลผลิตข้าวได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเมื่อก่อนที่ได้ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 4 - 5 ตัน หรือ 5,000 กิโลกรัม เพราะมีน้ำสมบูรณ์ ทำให้มีรายได้ส่งให้ลูกเรียน  ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อนที่ทุกครอบครัวจะปล่อยคนแก่ให้อยู่เฝ้าบ้าน ผู้ที่แข็งแรงจะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง หรือที่กรุงเทพมหานคร แต่ตอนนี้เราก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา ครอบครัวมีความสุขมากเลย ได้ย้อนกลับมาพัฒนาตัวเองปรับเปลี่ยนพื้นที่นา มาร่วมกันทำงาน ทำให้ครอบครัวมีรายได้ดีขึ้น เรามีความสุขเป็นอย่างมาก นายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ กล่าว

สำหรับอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหาร มาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้มากยิ่งขึ้น

การก่อสร้างอุโมงค์จะใช้วิธีเจาะลอดใต้ภูเขาภูบักดี ขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 740 เมตร ใช้ระบบผันนํ้าด้วยท่อเหล็ก ปริมาณนํ้าไหลผ่านท่อ 2.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมสร้างถังพักนํ้าคอนกรีตเสริมเหล็กทรงกระบอก ที่สามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,000 ไร่ พื้นที่บริเวณ 15 หมู่บ้าน ในเขต ต.สงเปลือย และพื้นที่บริเวณ 18 หมู่บ้าน ในเขต ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง  มีประชาชนได้รับประโยชน์ 1,025 ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ยข้าวนาปี (ข้าวเหนียว กข.) ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ (ปี 2554-2564) ประมาณ 564 กิโลกรัมต่อไร่ เฉลี่ย 90.84 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากเดิม 46.81 ล้านบาทต่อปี

         

       นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการน้อมนำพระราชดำริด้านการบริหารจัดการธรรมชาติด้านน้ำมาปฏิบัติใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยได้ตระหนักตลอดมาที่ว่า "...ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..." ชีวิตราษฎรบ้านโนนสูง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ วันนี้ครอบครัวจึงมีสุขทุกคนอยู่พร้อมหน้าเมื่อมีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปี

         

       นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

.....................

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

สำนักงานกปร.ข้อมูล-ภาพ