สอศ. เจ้าภาพประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีนคัดผู้ชนะตัวแทนประเทศไทยแข่งขันระดับโลก

        สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีน ระดับมัธยมศึกษา สะพานสู่ภาษาจีน ครั้งที่ 15 หัวข้อ บินสู่เป้าหมายด้วยภาษาจีน (Fly high with Chinese) 追梦中文,不负韶华。รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 16 -17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นนักเรียนนักศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ สอศ. หน่วยงาน ละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน โดยได้รับเกียรติจากนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  นางเฝิง จุนยิง ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคุณหวาง ฮุ่ยชาง ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ เข้าร่วมงาน ซึ่งงานดังกล่าวจัดในรูปแบบออนไลน์

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การประกวดในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงพัฒนาการ วิวัฒนาการและการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนของนักเรียน นักศึกษาไทย  ซึ่งสามารถมาปรับใช้ในการเรียนต่อที่สูงขึ้น หรือนำมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการสื่อสารภาษาจีนเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาจีนย่อมมีโอกาสและต้นทุนในการทำงานที่สูงกว่าผู้อื่น ซึ่งภาษาจีนถือได้ว่าเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมและยอมรับในโลกธุรกิจ และการสื่อสาร  โดยผลการประกวดมีดังนี้ ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ คะแนนรวมสูงสุด ได้แก่ นายสมยศ สว่างไพบูลย์  นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) จากโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดรอบชิงชนะเลิศระดับโลก  นางสาวญาณินท์ วงศ์วรชาติ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 (ปวช.3) จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ได้คะแนนรวมชนะเลิศเป็นลำดับที่ 2 และนางสาวญาณิศา พฤกษ์ทยานนท์  ม. 5 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม ได้คะแนนรวมชนะเลิศเป็นที่ลำดับที่ 3 ของการแข่งขัน 

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จํานวน 4 รางวัล ได้แก่ นางสาวญาณสาน์ จิวรัตนจำรัส  จากโรงเรียนกวงฮั้ว   นางสาวจิลลา สาครการะเกด จากโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) นางสาวปณิดา ปัญญาสุทธิเลิศ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี   นายธนภัทร สกุลพานิช จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จํานวน 8 รางวัล ได้แก่ นางสาวธัญชนก ไชยนันทน์ จากวิทยาลัยภูเก็ตวิทยาลัย นายกิตติเดช จะลอ  จากโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา นางสาวธิตาภรณ์ วานิชพงษ์พันธ์ จากโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ นางสาวมณียา บุญนำ จากโรงเรียนกวงหมิงหัวเฉียว นางสาวนันทกานต์ จันทร์ตา จากโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย นางสาวฐิดาพร พร้อมสุข จากวิทยาลัยพณิชยการเชียงราย นางสาวหอมนวล  ตาบุญหู จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาแม่สาย นางสาวสุจิรา รวยสิน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ตามลำดับ

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปอีกว่า  สำหรับการแข่งขันการประกวดฯ ประกอบไปด้วย รอบแรก  วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เป็นการแสดงความสามารถทางวัฒนธรรมจีน 3 นาที  (ส่งคลิปวีดีโอ) การสอบข้อเขียน 40 ข้อ และการสอบสัมภาษณ์ (5 นาที)  รอบสอง วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 คัดเหลือ 15 คน  กล่าวสุนทรพจน์แบบฉับพลัน ( 2 นาที 30 วินาที )  เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับโลก