เสวนากับบรรณาธิการ : ทำไม...ต้องดันให้การศึกษายุคใหม่ก้าวทันโลกเปลี่ยน...

 

 

ทำไม...ต้องดันให้การศึกษายุคใหม่ก้าวทันโลกเปลี่ยน... 

เมื่อภาคการศึกษา กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ จากความเปลี่ยนแปลงในบริบททั้งสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกระแสของ Digital Disruption ที่ภาคธุรกิจถึงเวลาจริง ๆ แล้ว ที่ต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สามารถจัดเก็บบริหารจัดการข้อมูล (Data Scientist) เพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และ พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI)  

...หากมองไปถึงทศวรรษหน้า ยังมีแนวโน้มที่ส่งสัญญาณถึงการเข้าสู่ยุคที่สังคมโลกเร่งความเร็วเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพัฒนา ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้าสู่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้สำเร็จ หลังจาก Covid-19 เข้าคุกคามชุมชนทั่วโลกสู่แก่นแท้เพื่อความอยู่รอด

 

 เสวนากับบรรณาธิการ Edunewssiam เก็บตกจากเวทีเสวนาในหัวข้อ Technology Trends for Business and Beyond ในวันแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตร วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร รับเทรนด์ ทักษะมัลติสกิล ขับเคลื่อนโลกเศรษฐกิจยุคดิจิทัล สาขาธุรกิจและเทคโนโลยี เรียน 3 ปี ได้ปริญญา 2 ใบ จาก ม.ศิลปากร และ Paris School of Technology and Business สาธารณรัฐฝรั่งเศส  โท-เอก มีการแบ่งปันมุมมองทั้งในฝั่งภาคการศึกษา และ ความต้องการบุคลากรเพื่อป้อนธุรกิจยุคใหม่จากองค์กรใหญ่ ต่างเสนอมุมมองที่น่าสนใจเล่าสู่กันฟัง ที่ว่า...

ดร.เฉลิมพร สิริวิชัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร ...

ยกอ้างบทความจาก ฟอร์บส นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุถึงแนวโน้มในอนาคตทางด้านเทคโนโลยี ที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ 5 เทคโนโลยี ปัจจุบันเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน และขยับเข้ามาใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับประชากรโลกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่

1.Continuous Rise Of AI เทคโนโลยีประดิษฐ์จะเริ่มเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้ชัดขึ้นจากกระแสอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการนำ AI มาช่วยอำนวยความสะดวก

2.Security and Privacy ความสำคัญเรื่องการปกป้องข้อมูลที่ต้องมีความปลอดภัย  

3.The Rise of Metaverse การขยายตัวของเมตาเวิร์ส จากแรงขับเคลื่อนของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์  

4.Adoption of Blockchain Technology การใช้เทคโนโลยีด้านบล็อกเชน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเป็นประเทศที่ยอมรับการใช้ NFT เป็นอันดับ 1 ของโลก  และ

5.More Permanent Adjustments To Hybrid Workspaces เทรนด์ของการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกได้ทั้งจากออฟฟิศ บ้าน หรือที่ใดก็ได้ ซึ่ข้อนี้มีปัจจัยผลักดันจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

เป้าหมายของความร่วมมือครั้งเปิดตัวหลักสูตร วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร นอกจากผลิตคนเพื่อป้อนให้กับธุรกิจทั่วไปแล้ว ยังมุ่งหวังสร้างให้เกิดผู้ประกอบการอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือบิล เกตส์เมืองไทย โดยเป็นหลักสูตรที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ธุรกิจของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปอยู่กับธุรกิจใหญ่ๆ หรืออาจเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร (Intrapreneur) ที่สามารถพัฒนาธุรกิจให้กับบริษัทใหญ่ๆ ด้วย“ 

 

นางสาวฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทโซเชียลแล็บและนักข่าวไอที ให้ความเห็นว่า...

ในบทบาทของสื่อมวลชนสายข่าว IT ได้เห็นและมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีหลายครั้ง โดยเฉพาะในงานแสดง Consumer Technology ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก CES  (Consumer Electronics Show) ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปีที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเห็นเทรนด์การเติบโตของฮาร์ดแวร์ และไอเดียการจับเทรนด์ใหม่ๆ มาใส่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จนเกิดเป็นนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก

จากประสบการณ์เหล่านี้ จึงมองว่าแนวคิดด้านการเรียนรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็น และภาคการศึกษา ต้องมีบทบาทเพิ่มการสนับสนุน และหนุนเสริมนักศึกษาในการรับมือความท้าทาย ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง 

อีกทั้ง มองว่านี่คือ สิ่งสำคัญสำหรับนักศึกษาไทย ที่จะยกระดับจากความเป็นท้องถิ่น หรือการมองแต่ตลาดในประเทศไปสู่ทักษะในระดับสากล

ปัจจุบันจะมองทักษะการแก้ปัญหา และการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนทักษะด้าน Critical Thinking เพราะในยุคใหม่จำเป็นต้องมีการ “คิด” ร่วมกันทั้งจากคน (Human) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotic) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics)

ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรที่เป็นนานาชาติข้างต้น ที่ได้รับการออกแบบร่วมกับสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศส จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ตอบสนองความต้องการทักษะใหม่ของโลกยุคใหม่ ตอบโจทย์ความคาดหวังของภาคธุรกิจ เมื่อคิดถึงการจ้างพนักงานใหม่...

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ทัศนะว่า...

ทุกวันนี้ภาคธุรกิจต่างๆ ล้วนต้องการทักษะด้านเทคโนโลยี องค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ “คิดใหม่-ทำใหม่” ขณะที่ ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการเดียวกัน คือ การยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค Industry 4.0 ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีในโลกจริง (Physical Technology) เทคโนโลยีดิจิทัล และอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการจะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ได้ จำเป็นต้องมีการวางพื้นฐานมาตั้งแต่ระบบการศึกษา การสร้างบุคลากร

ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ฝรั่งเศส มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ และการตลาดที่สามารถปั้นแบรนด์ให้เป็นที่นิยมของคนทั่วโลก

ดังนั้น ความแข็งแกร่งเหล่านี้ของฝรั่งเศส น่าจะเข้ามาหนุนเสริมทักษะให้กับบุคลากรในหลักสูตรนี้ รวมทั้งแรงงานยุคใหม่ที่หลักสูตรความร่วมมือนี้ผลิตออกไป โดยนอกเหนือจากทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะทางธุรกิจ ยังรวมไปถึงการมีโอกาสฝึกฝนทักษะที่เป็น International และ Global mindset เรียนรู้ที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน (User Experience) และการออกแบบที่เป็น universal design

ดร. อาร์มอง แดร์คี (Dr. Armand Derhy)  ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Paris School of Technology and Business (PSTB) สถาบันการศึกษาในเครือข่ายของ Galileo Global Education ผู้นำสถาบันอุดมศึกษาในยุโรป ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาในเครือข่ายมากกว่า 55 สถาบัน 86 วิทยาเขต ใน 13 ประเทศ...ให้ข้อคิดว่า...

มีรายงานจัดทำโดย McKinsey Global Institute (MGI) เกี่ยวกับ “ทักษะ” ที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในอนาคต โดยจากการสอบถามบริษัทต่างๆ ถึง “next change” ขององค์กร และทักษะที่ต้องการให้มีการเตรียมพร้อม พบว่า บริษัทต่างๆ คาดหวังถึงทักษะด้านเทคโนโลยี (Technological skills) เป็นลำดับแรก โดยพบว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี 2030

 

cc : McKinsey Global Institute | McKinsey ...mckinsey.com 

ปัจจุบันบริษัททั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการสรรหาคนเก่งรุ่นใหม่ (new talent) ที่มีทักษะความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในฝรั่งเศส คาดหวังการจ้างบุคลากรด้าน Cyber Security ไว้ประมาณ 15,000 ตำแหน่ง แต่กลับมีไม่เพียงพอ หรือยุโรป ต้องการจ้างงานถึงหลักหมื่นตำแหน่งในสาขาที่เกี่ยวกับเมตาเวิร์ส เป็นต้น

ในบทบาทของสถาบันการศึกษา มีพันธกิจในการให้ความรู้และอบรมผู้นำในอนาคต และมีพันธกิจผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่เป็น Talent ป้อนให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อฝ่าทะลายความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้าไปผสานอยู่ในแทบทุกเซคเตอร์ รวมถึงการเงิน การตลาด จึงเป็นความสำคัญที่มิอาจมองข้ามไปได้เช่นกัน 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)