ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

❝ เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป 

พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

          วันที 28  กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระบรมราชานุญาตถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงข้าพรพพุทธเจ้าพสกนิกรไทยตราบนานเท่านาน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.. 2495 เวลา 17:45 .พระนามเดิมว่าสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร  มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

 วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.. ๒๕๑๕ ปวงชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.. 2559 ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 10  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดประชุมวาระพิเศษ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แจ้งหนังสือหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.. 2559 ที่ได้รับจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แก่ที่ประชุมเพื่อรับทราบ ก่อนอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์ และพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์

จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม จึงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการ เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นสืบราชสมบัติ จากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า

ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง

 ทั้งนี้ ในทางนิตินัย  ถือว่าได้ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.. 2559 เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งยังสอดคล้องกับคตินิยมในนานาประเทศที่ราชอาณาจักรย่อมไม่ว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" (อ่านว่า สม-เด็ด-พฺระ-จ้าว-หฺยู่-หัว-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน บอ-ดิน-ทฺระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน)

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562  ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า"เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

           นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ  ได้ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ  เพื่อประโยชน์สุขราษฎรต่อเนื่อง  ด้วยทรงตั้งพระราชปณิธาน สืบสาน  รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเคียงข้างพระบรมราชชนกนาถและพระบรมราชชนนี โดยมิทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยาก  ด้วยทรงมุ่งมั่นเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขด้วยวิถีแห่งความพอเพียงพออยู่พอกิน โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง มาแต่ทรงพระเยาว์

ช่วงที่เสด็จขึ้นทรงราชย์   เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2559 – มกราคม 2560  ภาคใต้ของไทยประสบอุทกภัยอย่างหนักในหลายพื้นที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยในความเดือดร้อนของประชาชน   จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นสำหรับช่วยเหลือราษฎรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง  พร้อมกันนี้ มีพระราชกระแสแก่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขความเดือดร้อนดังกล่าวจนบรรเทาลุล่วงไปเป็นลำดับ

โดยเมื่อเวลา 18.11 . วันที่ 10 เมษายน 2560   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เฝ้าฯ รับพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ จำนวน 40 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพรและไดอารีภาพวาดฝีพระหัตถ์

 สำหรับเงินที่นายกรัฐมนตรีได้รับพระราชทานในโอกาสนี้ รัฐบาลนำไปสมทบทุนช่วยเหลือฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบอุทกภัย ตลอดจนเป็นเงินทุนการศึกษาพระราชทานแก่บุตรหลานผู้กำลังอยู่ในวัยศึกษาของครอบครัวผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุทกภัย ทั้งนี้ ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่โรงเรียนจำนวน 267 แห่ง โดยจัดพระราชทานครุภัณฑ์ โต๊ะเก้าอี้ครูและนักเรียน รวมทั้งอุปกรณ์การศึกษา ที่จำเป็นด้วยเป็นต้น

 พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-พระบรมราชินี สู้ภัยโควิด-19

มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี  เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้

อันที่ ๒ ก็คือจากข้อที่ ๑ ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดโดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด

ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา

โดยมีเป้าหมายว่า  เราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด  เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้  โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด  หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข   บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม   อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ แก่นายกรัฐมนตรี   คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บัญชาการเหล่าทัพ  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563   พระที่นั่งอัมพรสถาน  พระราชวังดุสิต

นับเป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยทั้งประเทศว่า  ทุกข์สุขของคนไทยทุกคนอยู่ในสายพระเนตรในพระราชหฤทัยห่วงใย   นับตั้งแต่ภาวะอันเกิดจากสภาพความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการดำรงชีวิต  การประกอบอาชีพ  ความยากจน  ไปจนกระทั่งเกิดภัยธรรมชาติ  การมีวิกฤติภัยพิบัติอย่างเช่นโรคแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้นตั้งแตปี2562 ในประเทศไทยเรา  แล้วก็เกิดพร้อมๆกันทั้งโลก 

การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับคนไทยประเทศไทย และโลกอย่างหนักหน่วง  ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตความป็นอยู่ของประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตของพี่น้องไทยในบ้านเมืองเรา  ผลกระทบสร้างความเดือดร้อนแก่การดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการมีรายได้ตกต่ำ ทั้งตกงาน การทำอาชีพย่ำแย่  ด้วยโรคร้าย ไวรัสโคโรนา2019” หรือโรค โควิด-19” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ใกล้ชิด พระราชทานความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

วันนี้ไวรัสโควิด-19  ก็ยังรุนแรง  มีการกลายพันธุ์แพร่เชื้อรวดเร็ว และขยายวงกว้างขวาง ประชาชนยังคงต้องดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท การ์ดอย่าตก สรวมหน้ากาก  เว้นระยะห่าง  ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ตลอด

วันที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศประสบทุกข์ร้อนด้วยไวรัสโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี  ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่คนไทยโดยพระราชทานความช่วยเหลือเกื้อกูล  พระราชทานเครื่องมือแพทย์พร้อมอุปกรณ์จำเป็นและขาดแคลน 

เช่น เครื่องช่วยหายใจ Bennett รุ่น840 ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจชนิด Volume control   เครื่องช่วยหายใจ Draeger   เครื่องช่วยหายใจ Event  เครื่องช่วยหายใจ Maquet   เครื่องช่วยหายใจ Neumovent  เครื่องช่วยหายใจ Bellavista  เครื่องช่วยหายใจ LAVI    เครื่องวัด Oxygen Rossmax รุ่น SB 100  เครื่องวัด Oxygen Rossmax รุ่น SB 200   ชุดป้องกันการติดเชื้อโรค (PPE) จำนวน ๔,๐๐๐ ชุด แก่บุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ  หน้ากากอนามัย หน้ากากเฟชชิลเป็นต้นแก่โรงพยาบาล  แก่บุคลากรทางการแพทย์  แล้วยังพระราชทานพระบรมราโชบายแนวทางการสู้กับโรคโควิด-19 ผ่านนายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข  ผู้บริหารเหล่าทัพเป็นต้น  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้  ทรงแผ่พระบารมีเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจ  เป็นพลังให้คนไทยสู้กับภัยโรคไวรัสดังกล่าว

 พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยการศึกษามาแต่ทรงพระเยาว์   ดังเป็นที่ประจักษ์ว่า  ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร  ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยในครอบครัวที่มีฐานะยากจนยากลำบาก  แต่ประพฤติดีมีความสามารถในการศึกษา  ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย

           ในปี ๒๕๕๓  ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (...) ขึ้น โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ  ทำให้เยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจนแต่มีความประพฤติดีเรียนดีมีโอกาสรับทุนการศึกษาพระราชทานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงให้ความสำคัญการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ชั้นเตรียมอดุมไปจนถึงอุดมศึกษา ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้สถานศึกษาสร้างเยาวชนเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาย่อมสามารถเป็นพลังเกื้อกูลพัฒนาสังคมได้เป็นรูปธรรม   ตัวอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏย่อมสามารถเกื้อกูลพัฒนาประชาชนในชนบทได้  จึงทรงพระกรุณาฯให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยครูอาจารย์  นักศึกษาได้นำองค์ความรู้อันเกิดจากงานวิจัย  ความสามารถเกื้อกูลการอาชีพ  การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น  มีความเป็นอยู่แบบพอเพียงพออยู่พอกินตามวิถีแห่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหารา  บรมนาถบพิตร

           ทรงสร้างแหล่งน้ำปัจจัยหลักแห่งชีวิต

          ในด้านการดำเนินชีวิตของประชาชนพสกนิกรทั้งประเทศ  อดีตนั้นประสบปัญหาด้านปัจจัยหลักสำคัญในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตได้แก่เรื่องน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร การอุตสาหกรรม ประสบปัญหาเรื่องดิน  เรื่องป่าไม้ ที่ล้วนเป็นปัจเชื่อมโยงถึงเรื่องอาชีพ ที่ผ่านมานั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานแหล่งน้ำ  แหล่งการศึกษาเรียนรู้ด้านอาชีพ ด้านการพัฒนาดิน การอนุรักษ์พัฒนาป่าไม้ พระราชทานหลักการบริหารจัดการผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระราชทานไว้ทั่วประเทศเกิน 4,500  โครงการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังประจักษ์ว่า ทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ติดตามและพัฒนาฟื้นฟูทั้งแหล่งน้ำ เรื่องดิน เรื่องป่า เรื่องอาชีพให้เกิดศักยภาพมากยิ่งขึ้นก่อประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบันและอนาคต ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับราษฎรอย่างจริงจัง

อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ราษฎรถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากและทรงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจเยี่ยมเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน

นับแต่เสด็จขึ้นทรงราชย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้ ทรงให้ติดตามขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร อย่างเอาพระทัยใส่ใกล้ชิด  เพื่อให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนนำประโยชน์สุขสู่ราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

ดังเช่นโครงการอาคารอัดน้ำบ้านเนินทองพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดระนอง และอยู่ในแผนงานงบประมาณในปี 2566 อีก 4 โครงการ คือ

โครงการต่อยอดบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี, โครงการปรับปรุงคลองผันน้ำร่องสักและโครงการก่อสร้างฝายร่องขุยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา, โครงการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่รับประโยชน์ (จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ), และโครงการต่อยอดโครงการอาคารอัดน้ำบ้านเนินทองพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดระนอง

รวมถึงโครงการที่อยู่ในการพิจารณาเป็นโครงการต่อยอดฯ ในลำดับต่อไป เช่น โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้พื้นที่ป่าแม่ยางและป่าแม่อางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง, โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำงาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง, โครงการฟื้นฟูสภาพป่าเหนืออ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ, และโครงการฟื้นฟูสภาพป่าเหนืออ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

ในส่วนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีจำนวนประมาณ 140 โครงการ เป็นโครงการที่มีพระราชดำริโดยตรง จำนวน 39 โครงการ

แบ่งเป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครจำนวน 23 โครงการ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15 โครงการ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนบ้านเด่นชาติ อำเภอข้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 1 โครงการ ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 39 โครงการ

และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) จำนวน 101 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแล้ว จำนวน 93 โครงการ แบ่งเป็นดำเนินการแล้วเสร็จ 79 โครงการ อาทิ

โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยฯ จังหวัดเชียงราย โครงการก่อสร้างแก้มลิงห้วยยางแพรกขวาพร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโครงการก่อสร้างระบบประปาบ้านผัง 16 พร้อมระบบส่งน้ำฯ จังหวัดสตูล และอยู่ระหว่างดำเนินการ 45 โครงการ

ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่โปรดเกล้าให้ติดตามอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด  เช่นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 5 แห่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริและ อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง มีสภาพสมบูรณ์สามารถช่วยเหลือราษฎรตำบลยางหักได้อย่างทั่วถึง มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพอันเกิดจากการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างเข้มแข็งของราษฎร รวมถึงการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาสภาพพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณได้สร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎร สมดังพระราชปณิธานที่จะทรงรักษา สืบสาน ต่อยอดการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้บังเกิดประโยชน์สุขกับประชาชนสืบไป

 โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองบ่อออง และ ขุดร่องชักน้ำ พร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคำแก้ว และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยหินพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกรูปธรรมแห่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความช่วยเหลือตามที่ราษฎรทั้งสองตำบลขอพระราชทานโครงการในการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรได้ประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ช่วยเหลือราษฎรได้มีปัจจัยหลักประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุขได้อย่างยั่งยืน  

ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์Edunewssiam.com ในนามพสกนิกรชาวไทยด้วยความจงรักภักดีและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทรงสถิตย์เป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตราบนานเท่านาน

ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ