ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ แก้ปัญหาเด็กอ้วน ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่ม ทำลายสุขภาพ

ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ ระดมสมองสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็กอ้วน

สสส. – สธ. ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ ระดมสมองสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็กอ้วน ลุย ดันมาตรการบังคับใช้ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพ เน้นจัดการเทคนิคการทำการตลาดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยง NCDs ต้นเหตุการตายก่อนวัยอันควร

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ให้ข้อมูลว่า เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเด็กเล็ก 1-5 ปี เพิ่มเป็น 11.4% และเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เพิ่มเป็น 13.7% รวมทั้งเด็กวัยรุ่น พบ 13.1% ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยที่สำคัญ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

“ที่ผ่านมา ไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างควมรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ กว่า 100 องค์กร เร่งระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป

พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ 

พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยได้ร่วมรับรองชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็กในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63 และแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ระดับโลก พ.ศ. 2556-2573 และนอกจากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุม NCDs ซึ่งมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs อันอิงอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งนี้มาตรการการดังกล่าว ยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (UNIATF on NCDs) ที่เสนอต่อรัฐบาลไทย

 

ทั้งนี้หน่วยงานทุกภาคส่วน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยอย่างเร่งด่วน และการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับมาตรการอื่นๆ จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจาการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ