เฉลิมพระชนมพรรษา ๙oพรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

o พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

“...ประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพจากความหิวโหย จะเรียกว่ามีเสรีภาพเต็มที่ไม่ได้ ประเทศใด ประชาชนไม่สามารถผลิตให้แก่ประเทศได้ ประเทศนั้นๆ จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร มิช้านานก็คงต้องล้มคว่ำลงไปในวันใดวันหนึ่ง... 

พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗

 “...ความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศ ไม่ควรจะมุ่งหมายแต่เพียงการอยู่ดีกินดีเฉพาะแต่ในพระนครเท่านั้น ชาวบ้านเมืองเราจะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อทุกครอบครัวทั่วในประเทศ มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ...

พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานในโอกาสเสด็จฯไปทรงเปิดงานชุมนุมแม่บ้าน ครั้งที่ ๑๐ ณ วิทยาลัยครูสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๐

ได้เกิดมาเป็นคนไทยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ภายใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นบุญวาสนาอย่างที่สุด  ด้วยประจักษ์ใจคนไทยทุกคนว่าล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์ ทรงทุ่มเทตรากตรำพระวรกาย ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยพระองค์เลยแม้แต่น้อย 

ตราบที่ประชาชนคนไทยยังตกอยู่ในความทุกข์ ความเดือดร้อนเรื่องการดำรงชีวิต เพราะความอดอยากขาดแคลน จึงยังคงทรงทุ่มเทพระองค์ ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยบำบัดทุกข์เดือดร้อนให้หมดไป หรือบรรเทาเบาบางลงไปจากประชาชนเป็นที่ประจักษ์แก่ราษฎรมาทุกรัชสมัย  โดยพระราชทานหลักการดำเนินชีวิตตามหลักแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ราษฎรทุกคนมีปัจจัยที่จำเป็นสำคัญในการเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิตประกอบอาชีพ สร้างความเจริญงอกงามนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขยั่งยืนบนวิถีแห่งความพออยู่พอกิน 

วันที่  12  สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญอันเป็นมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง คือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565นี้เป็นปีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ  90  พรรษา นำมาซึ่งความปลื้มปีติชื่นชมโสมมนัสอย่างที่สุดของปวงชนชาวไทย  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่รู้กันเป็นอย่างดีว่า นับแต่ทรงเข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เมื่อพุทธศักรราช 2493  ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยเป็นอย่างดีว่าประชาชนของพระองค์ส่วนใหญ่ ทั้งเกษตรกรและประชาชนที่มีอาชีพทั่วไป  จำนวนไม่น้อยยังคงประสบปัญหามากมายหลายอย่างในการประกอบอาชีพ  ทำให้มีปัญหาต่อเนื่องถึงวิถีดำเนินชีวิตความเป็นอยู่  ที่ส่วนใหญ่เดือดร้อนเพราะการขาดแคลนปัจจัยหลักในการประกอบอาชีพ ในการดำรงชีวิต สาเหตุมาจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปอย่างมากมายอย่างเช่นป่าถูกทำลาย ต้นไม้ถูกตัดโค่น เท่ากับทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารไปในตัว   มีผลกระทบถึงแหล่งน้ำธรรมชาติน้ำเหือดแห้ง  ทำให้ขาดปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพปัจจัยการดำเนินชีวิตให้เจริญงอกงามไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎร  จึงทรงมุ่งมั่นที่จะสร้างป่าพัฒนาแหล่งต้นน้ำลำธาร เกิดผลพวงในการสร้างงาน  สร้างอาชีพ อันเกิดจากการสร้างป่าสร้างแหล่งต้นน้ำลำธาร  สร้างทรัพยากรธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์อันเป็นทั้งส่วนเสริมและส่วนหลักสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตดำรงอยู่เจริญงอกงามมีความสุขอย่างยั่งยืน

เพราะพระเมตตาอันยิ่งใหญ่อันเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้หมด ให้บรรเทาเบาบางไปจากประชาชนของพระองค์  ให้คนไทยทุกคนดำรงชีวิตอย่างมีความสุขยั่งยืน ด้วยวิถีแห่งความพออยู่พอกินประดุจแม่ห่วงใยลูก  จึงได้พระราชทานโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตไว้มากมาย  ด้วยพระราชปณิธานให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นหัวใจสำคัญของความเจริญงอกงามแห่งสรรพชีวิต  พระราชทานโครงการเพื่อให้เกิดงาน เกิดแหล่งอาชีพ  เกิดแหล่งอาหาร โดยทรงเริ่มควบคู่กันไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นไปในวิถีของการอยู่ร่วมกันเกื้อกูลกันระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ

ศูนย์ศิลปาชีพฯ

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มโครงการหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เนื่องจากได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหมู๋บ้านเขาเต่า ทรงพบว่า...

           นอกจากความยากจนอย่างยิ่งของราษฎรแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีพื้นที่แห้งแล้งมาก ขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กรมชลประทานจัดสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่เขาเต่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงแนะนำชักชวนให้หญิงชาวบ้านเขาเต่า หัดทอผ้าฝ้ายขายเพื่อเป็นอาชีพเสริม  มีพระราชเสาวนีย์ให้ไปขอครูทอผ้าจากโรงงานทอผ้าบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี มาสอน

          ด้วยผลงานอันกว้างขวางของโครงการศิลปาชีพพิเศษนี้ โดยมีศูนย์ศิลปาชีพฯ และสมาชิกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้องทรงใช้จ่ายพะราชทรัพย์เพื่อโครงการนี้ตลอดมา และต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ด้วยเงินทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับส่วนที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย

         เดิมทีโครงการศิลปาชีพนี้ เรียกว่า โครงการศิลปาชีพพิเศษ แต่ต่อมาทรงเห็นว่า ชื่อยืดยาวเกินไปจึงทรงอยากจะตัดออกให้ชื่อกระชับเข้า จึงเหลือแต่เพียงคำว่า ศิลปาชีพ   โดยทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

          ต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่าสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ยึดศิลปาชีพเป็นอาชีพหลักกันจำนวนมาก มิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น

         อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญา ด้วยพระอุตสาหะ วิริยะ เพื่อมูลนิธิฯ หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เท่านั้น คณะกรรมการบริหารเห็นว่า เมื่อจะแก้ไขเรื่องชื่อ โดยเอาคำว่าพิเศษออกแล้ว ก็ควรขอพระราชทานพระราชานุญาต เปลี่ยนคำว่า  ในพระบรมราชินูปถัมภ์    เป็น   ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย เพื่อให้ตรงกันกับความเป็นจริง พร้อมทั้งจัดทำตราสารขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องแก่การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในขณะนั้นมีทั้งหมด ๙ แห่งทั่วประเทศ แล้วยังมีโครงการและกลุ่มศิลปาชีพอีกเป็นจำนวนร้อยกว่าโครงการกระจายกันอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย  

โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ

          โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่ มีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งเป็นฟาร์มตัวอย่างขึ้นสำหรับราษฎรชาวเขา ได้เข้ามาฝึกทางด้านการเกษตรที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยได้จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกที่บ้านขุนแตะ อำเภอจอมทอง ในพื้นที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔o

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชประสงค์ที่จะให้โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ เป็นแหล่งจ้างงานของชาวบ้านที่ยากจน  เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษให้แก่ชุมชนนั้นๆ และชุมชนใกล้เคียง  เป็นแหล่งให้วิชาความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ผู้ที่เข้ามาทำงาน โดยเป็นการเรียนรู้แบบ“Learning by doing” เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถนำไปดำเนินการเองได้ในที่ดินของตนเอง  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเป็นแหล่งความรู้ในทุกด้าน  ทั้งด้านวางแผนการผลิต  ด้านทดลองและขยายพันธุ์ ด้านฝึกอบรมและขยายผลสู่เกษตรกร  ด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมด้านเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์  และบรรจุภัณฑ์ด้านจำหน่ายและส่งเสริมการขาย

           โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ กระจายอยู่ทั่วประเทศมีทั้งหมด ๕๖  แห่งทั่วประเทศ

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ  

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ เป็นอีกโครงการที่ชัดเจนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นสร้างอาชีพ  สร้างงานควบคู่กับการสร้างความอุดมสมบูรณ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ  มิให้มีการบุกรุกทำลายหากแต่มีการร่วมกันฟื้นฟูดูแลรักษาขึ้นแทนที่ เพื่อประโยชน์ของราษฎรและของประเทศชาติ อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

          เป็นโครงการพระราชดำริที่แก้ปัญหาการใช้พื้นที่ทำกินของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินและความรู้ทางการเกษตร ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม  เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น  เป็นแหล่งให้ราษฎรได้ศึกษาหาความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เลี้ยงชีพ และเรียนรู้ได้ด้วยการเข้าเป็นแรงงานการดำเนินงานของโครงการฯ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถอยู่ร่วมกับป่า พร้อมกับฟื้นฟูป้องกันรักษาป่า  และไม่ทำลายป่าอีกต่อไป

          ปัจจุบันสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริมีกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ  ๑๘  แห่ง

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ

          โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่เป็นโครงการตัวอย่างที่ทรงให้จัดทำขึ้น โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร มาดำเนินการ จากที่มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขา ให้มีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมด้วยการให้อาศัยอยู่บนภูเขา มิใช่ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ ที่นอกจากจะไม่สร้างความเดือดร้อนและปัญหาให้แก่สังคมแล้ว  ยังจะเป็นการช่วยเหลือและร่วมกันป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ช่วยกันดูแลรักษาป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นทรัพยกรธรรมชาติสำคัญของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบอีกด้วย พระราชทานไว้ทั้งสิ้น  5  แห่ง  อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และกำแพงเพชร

โครงการป่ารักน้ำฯ

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อทรงเห็นว่ายังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่เรื่อยๆ ก็ทรงหันมาปลูกป่าแทน ทรงมีพระราชดำริว่าถ้าพวกเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกป่าเสียแต่บัดนี้ ปล่อยป่าเหลือ 0 % ทุกสิ่งก็คงสายเกินไปสำหรับการตั้งต้นทรงเห็นว่าเราควรช่วยกันเริ่มทำเสียแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าคงจะชะลอความแห้งแล้งได้บ้าง

          สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยเรื่องป่ามาก ทรงเฝ้าศึกษาหาทางปลูกป่า เพราะทรงเห็นว่ามีความสำคัญต่อความบริบูรณ์ของน้ำ และความชุ่มชื้นของแผ่นดิน และมีผลสืบทอดมาถึงชีวิตและการเกษตรกรรม ประเทศตะวันออกกลางบางประเทศที่เห็นการไกล ต่างก็ทุ่มเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน มาบำรุงเกษตรอย่างสุดกำลัง เพราะเขารู้ซึ้งแล้วถึงความสำคัญของการขาดน้ำ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ทรงค้นคว้าทุกวิถีทางโดยศึกษาและปรึกษากับนักวิชาการ ในการที่จะหาทางปรับน้ำเสียให้เป็นน้ำดี แม้แต่เพียงเป็นการชะลอน้ำเสียอย่าให้เน่า แม้มาถึงวันนี้  ก็ยังไม่ทรงท้อถอยหรือหยุดยั้งในความตั้งพระราชหฤทัยโครงการป่ารักน้ำ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีขึ้นครั้งแรก ที่บริเวณเชิงภูผาเหล็ก ติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง บ.ถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค.๒๕๒๕ เวลา ๑๔๐๐ โดยในพิธีทรงให้มีการ บวงสรวงเทพารักษ์ เจ้าป่ามาสถิตย์อยู่ ณ ป่าแห่งนั้นด้วย และพระองค์ทรงปลูกป่า เป็นตัวอย่างด้วยพระองค์เอง จำนวน ๑ ไร่ พร้อมทั้ง พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า โครงการป่ารักน้ำฯมีจำนวน ๕ โครงการ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใหญ่หลวงมากมาย เพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาราษฎร และเป็นที่ประจักษ์ว่า ราษฎรไทยทั่วประเทศไทยจำนวนมาก ที่น้อมนำเอาหลักคิดหลักปฏิบัติที่พระราชทานไว้ไปปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตทุกด้าน ต่างสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยยึดหลักดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความสุขอย่างยั่งยืน เป็นผลอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ที่พระราชทานไว้ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตราบจนทรงพระชราภาพ

          ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๙o  พรรษา  ๑๒  สิงหาคม  ๒๕๖๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำนักข่าวการศึกษาEdunewssiam  ในนามพสกนิกรไทยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและด้วยความจงรักภักดี ขอพระราชทานพระราชานุญาต ถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตย์เป็นร่มโพธิ์ทองของปวงข้าพระพุทธเจ้าชาวไทยทั้งปวงตราบนานเท่านาน

 

 ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

      ข้าพระพุทธเจ้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวการศึกษาEdunewssiam.com