อาชีวะอุบลฯ ลงหมู่บ้านวันหยุด สอน 20 วิชาอาชีพ ระยะสั้น รับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว Thailand 4.0

อาชีวะอุบลฯ ลงหมู่บ้านวันหยุด สอน 20 วิชาอาชีพ ระยะสั้น รับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว Thailand 4.0

วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เปิดฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น โครงการห้องเรียนอาชีพจัดทีมอาจารย์ลงหมู่บ้าน “ส่งเสริมการฝึกอบรม พัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนและประชาขนทั่วไป” ประเภทวิชาคหกรรม พาณิชยกรรม ศิลปกรรม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วงวันหยุด กว่า 20 หลักสูตร

 

  

นางลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาวเพ็ญใจ ชัยวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร นางสมจิตร บุรุษพัฒน์  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ  พร้อมด้วยคณะครู ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศรีพรหมราช วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน  621  คน จากหลักสูตรระยะสั้นที่เปิดสอน จำนวน 20 หลักสูตร ในประเภทวิชาคหกรรม พาณิชยกรรม ศิลปกรรม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

 

อาทิ อาหารไทยสี่ภาค อาหารว่างยอดนิยม ขนมอบยอดนิยม การบัญชีเบื้องต้น การสร้างกราฟิกวีดิทัศน์  งานประดิษฐ์ตามสมัย งานประดิษฐ์ของชำร่วย และ ธุรกิจกาแฟ เป็นต้น ใช้เวลาอบรมในช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์  เวลา 09.00-16.00 น. ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้เริ่มมาตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม –กันยายน 2565 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี และ ขยายให้กับประชาชนด้วยการลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีครูผู้มีความรู้ความชำนาญในวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เป็นวิทยากรให้ความรู้ในแต่ละหลักสูตร

 

  

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว นางลฎาภา แสวงทรัพย์ ยังกล่าวด้วยว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ยังลงพื้นที่สอนหลักสูตรระยะสั้น ตามโครงการห้องเรียนอาชีพ ในภาคเรียนที่  1 ปีการศึกษา 2565 ที่โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อาทิ โรงเรียนปทุมพิทยาคม โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคี โรงเรียนบ้านกุดเป่ง และโรงเรียนวารินชำราบ เป็นต้น ทั้งนี้หลักสูตรที่เปิดสอน เช่น  ศิลปะตกแต่งเสื้อผ้าด้วยมือ  ขนมไทย อาหารไทยยอดนิยม นวดแผนไทย การขายออนไลน์  งานประดิษฐ์เครื่องแขวนเล็ก ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่องานสปาไทย เป็นต้น 

 

  

 

นับเป็นความภาคภูมิใจของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาขนทั่วไปให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการทำงานและการเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการเสริมทักษะใหม่และพัฒนาทักษะที่มีอยู่ หรือ Up-skill  / Re-skill  / New-skill สู่โลกของการทำงานในอนาคต  ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในยุคประเทศไทย 4.0 อีกด้วย

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)