เสวนากับบรรณาธิการ 30สิงหาคม 2565 ลุ้นกลเกม...แต่งตั้ง - โยกย้าย ระดับสูงในศธ. บทพิสูจน์ ค่าของคน...คนของใคร

 

 

เสวนากับบรรณาธิการ 30สิงหาคม 2565  

ลุ้นกลเกม...แต่งตั้ง - โยกย้าย ระดับสูงในศธ. บทพิสูจน์ ค่าของคน...คนของใคร

 

วันนี้อังคาร ที่ 30 สิงหาคม คาดว่าน่าจะมีการเสนอรายชื่อผู้บริหารระดับ 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ปลัด ศธ. ถึงคิวภาคบังคับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เสนาบดีศึกษา ชงเสนอรายชื่อระดับ 11 ศธ. ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา รวมถึงจะมีผู้บริหารระดับ 10 ขึ้น 11 แล้วแน่นอน 

 

 

 

ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารระดับสูง ศธ.ในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง บอกด้วยว่า ทำด้วยตัวเองไม่มีใครขอมา หรือมีกลุ่มอื่นเข้ามาแทรกแซง กดดัน ในการคัดเลือกบุคคล แม้กระทั่งการจัดรายชื่อโยกย้ายผู้บริหาร ศธ.ก็ตรงไปตรงมา และถูกหลักการ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานการศึกษาต่อยอดและพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

จากที่สิ้นปีงบประมาณ 2565 นี้ สำรวจพบจะมีอัตราผู้เกษียณอายุราชการของผู้บริหาร ศธ.ประเภทบริหารระดับสูง ซี 11 และ ซี 10 รวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ , ผู้ตรวจราชการ ศธ. 1 ตำแหน่ง, ศึกษาธิการภาค 8 จ.ชลบุรี และศึกษาธิการภาค 17 จ.พิษณุโลก ตามด้วยตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ว่างจากปีที่แล้วอีก 1 ตำแหน่ง

 

 

สอดรับกับ สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เคยทิ้งท้ายถึงแนวทางการทำงานและสิ่งที่เป็นห่วงก่อนที่จะลุกจากเก้าอี้ปลัดศธ.ก็คือ การบรรจุแต่งตั้งรองศึกษาธิการจังหวัด ทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ปีนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ราย ต้องมีการเปิดสอบรองศึกษาธิการจังหวัดกันใหม่ เนื่องจากบัญชีผู้ที่สอบได้ใกล้หมดอายุเร็ว ๆนี้ และหากกรณีที่บางจังหวัดมีศึกษาธิการจังหวัด เกษียณอายุราชการด้วย จะทำให้เหลือรองศึกษาธิการจังหวัดทำงานคนเดียว ย่อมส่งผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาสะดุดลงได้

อีกทั้ง ช่วงนี้ ยังมีตำแหน่งใน ศธ.ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาว่างอยู่ เมื่อมีการโยกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ก็ต้องมีแต่งตั้งคนเข้าไปแทน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งจะมีการโยกย้าย แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด หลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญ ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “กศจ.” อีกด้วย

จากคำกล่าวของ รมว.ตรีนุช และปลัด ศธ. นั่นหมายความว่า มีโอกาสความเป็นไปได้อย่างมาก  ที่ น.ส.ตรีนุชจะชงโผรายชื่อแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 10 ขึ้น 11 ทดแทน 1 อัตราเกษียณฯ หรืออาจมีการโยกสลับตำแหน่งผู้บริหารระดับ 11 ในบางแท่งองค์กรบริหารหลัก เข้าสู่ที่ประชุม ครม. หรืออาจจะมีสลับตำแหน่ง ระดับ 11 เพียง 2 ตำแหน่ง หรือ ทั้ง 3 ตำแหน่ง ในวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 นี้ ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

แต่ก็มิวายมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คาดเดาเกี่ยวกับโผแต่งตั้ง-โยกย้าย ในศธ.ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งพอจะประมวลรับฟังและวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ ในทำนองว่า  รมว.ตรีนุช ชงโผเพียงรายชื่อเดียวแต่งตั้งผู้บริหารระดับ จากระดับ 10 ขึ้น ระดับ 11 แทน นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ สิ้นกันยายน นี้  ซึ่งคาดเดาถึงผู้ที่มีรายชื่อได้รับคาดหมายอยู่ในโผถึง 3 คน

 

 

 

เริ่มจาก นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันเป็ผู้มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. หลังจากที่ตัวประธานฯ คือ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ได้ไขก๊อกลา ออกไปจากตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.ศธ. ผลงานของ นายสุทิน แก้วพนา ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการกว่า 2.4 หมื่นคน ยื่นกู้ได้ตั้งแต่กันยายน 2565 ก็ย่อมได้ใจรัฐมนตรี "ตรีนุช" ไปด้วยเช่นกัน

แต่ก็ไม่แน่นักกับการเมืองในช่วงลมเพลมพัด  ส่งแรงกดดันไปถึงคนที่นั่งอยู่ทางฟากคลองผดุงกรุงเกษม อาจทำให้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. คงต้องขยับไปนั่งเก้าอี้ปลัด ศธ.ก็ได้ เพื่อเปิดทางสะดวกโดยโยกระดับ 11 บางคนเข้ามาทำหน้าที่  

แม้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เสมา 1 จะคิดเอนเอียงไปทาง เลขาธิการ กพฐ.ที่ชื่อ อัมพร พินะสา ให้นั่งเก้าอี้ปลัดศธ.ก็ตาม แต่เมื่อมาใคร่ครวญถึงสถานะภาพในการดูแลลี้พลที่ทำงานเข้าขาอย่างใกล้ชิดกับพี่น้องข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณ 5-6 แสนคน เป็นทุนเดิมแล้ว เท่ากับได้คะแนนเสียงมากกว่า ที่จะเลือกหยิบ เอาใครบางคนที่สังคมครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ ต่างตั้งคำถามถึงการทำงานเรื่องวิทยฐานะฯ กลับกลายเป็นปัญหาและไม่เอื้อต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซะงั้น

แหล่งข่าวชี้ว่า การเปลี่ยนขุนพล ดูมิเป็นผลดีต่อการรับมือช่วงศึกใหญ่ ที่กำลังจะมาในการเลือกตั้งเท่าใดนัก

 

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนสำคัญในศธ. ยังบอกกล่าวในทำนอง อย่างน้อยเรามิอาจมองข้าม คนที่ค่อนข้างจะมีความหวังในการเข้าสู่ ตำแหน่งปลัดศธ. ที่ชื่อ นายประวิต เอราวัณ ไม่ได้ ซึ่งเป็นบุคคลในยุค คุณหมอท่านหนึ่ง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับโอนมาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กคศ. แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กคศ. รักษาการเลขาธิการคุรุสภา ปัจจุบันก็มีโอกาสมิใช่น้อยในช่วงก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา จะถูกคำสั่งศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ฯ  ปมการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี

เมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศทาง ความหวังจะทะยานขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของศธ. จึงค่อนข้างริบหรี่ ไร้พลังหนุนจริง ๆ

แหล่งข่าวระดับบริหารระดับต้นในกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในสายตาของคนในศธ.ตลอดครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ถือว่า ดรประวิตร เอราวัน ผลงานยังมีข้อคับข้องใจหลายประเด็น และ เป็นข้าวนอกนา ซึ่งก็ต้องดูกันยาว ๆ หรือเป็นแค่ความรู้สึก ในทำนอง หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

 

 

มาถึงคิว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ดูประวัติแล้ว มีเส้นทางการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ค่อนข้างก้าวหน้าน่าสนใจ จากตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. จนมาเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังเหลืออายุราชการอีก 3 ปีกว่า

นอกจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา จะอยู่ใน สพฐ. องค์กรบริหารหลักของ ศธ.ขนาดใหญ่สุด ย่อมได้เปรียบได้แง่ของการประสานงานรับนโยบายหลักๆ จากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปสู่การปฏิบัติทั่วประเทศ มีผลงานสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จมากมาย ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ

แต่หากว่า เลขาธิการ กพฐ.ที่ชื่อ อัมพร พินะสา ไม่ขยับสับเปลี่ยนอย่างที่คาด ก็น่าจะเป็นมือทำงานที่มีพลังในการสานต่ออย่างสุขุม รอบคอบอย่างมีประสิทธิภาพ สามาทำงานในเชิงนโยบายให้กับ รมว.ศธ. โดยไร้การต่อต้านและเสียงรบกวน ต่อไป

 

 

เมื่อมองมาที่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แม้เธอจะเหลืออายุราชการยาวนานอีกนับ 10 ปี แต่ด้วยความที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากครูมัธยมฯก้าวเข้าสู่องค์กรบริหารหลักของ ศธ.ขนาดใหญ่สุด มีความเชี่ยวชาญงานด้านวิชาการ โดยคุมงานวิชาการของ สพฐ. ย่อมได้เปรียบได้แง่ของการประสานงานรับนโยบายหลัก ๆ จากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับครูและสถานศึกษาทั่วประเทศ สู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลประจักษ์เป็นผลงานตามนโยบายของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มีแรงหนุนแรงดันให้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงจากซีกผู้มีอิทธิพลทางการเมืองมิใช่น้อย

แต่... หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องฝ่ายค้าน ปมการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมมีมติ 5 : 4 ให้ "บิ๊กตู่"  หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา แรงหนุนแรงผลักจากบรรดามือที่มองไม่เห็น กลายเป็นการวางเฉย  เท่ากับว่า การจะก้าวขึ้นสู่ระดับ 11 ชนิดก้าวกระโดด เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสุด ณ ห้วงเวลานี้ ดูหมองไป แม้แต่ห้วยปลากั้ง เชียงราย ทำได้แต่ถอนหายใจ

 

 

สุดท้าย มองมาที่ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เติบโตมาจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และรองเลขาธิการ กอศ.

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ปีที่แล้ว รมว.ตรีนุช เทียนทอง ได้เสนอที่ประชุม ครม.ให้อนุมัติขยับขึ้นจากผู้บริหารระดับ 10 ตำแหน่งรองเลขาธิการ กอศ.และ เป็นผู้บริหารระดับ 11 ในตำแหน่งเลขาธิการ สกศ.ตามลำดับ และ วันนี้ 30 สิงหาคม 2565 ดวงกำลังดี ไม่มีตกน่าจะถึงเวลากลับไปนั่งตำแหน่งงานในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญและถนัดกว่างานที่สภาการศึกษา

 

 

แหล่งข่าวระดับสูง ศธ.อีกคนที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ฟันธงมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. จะยังคงนั่งในตำแหน่งเดิม ขณะที่ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะได้ไปนั่งในตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) แต่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยโยก สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปนั่งเก้าอี้ ปลัดกระทรวง ศธ. แทน สุภัทร จำปาทอง ที่เกษียณอายุ

 

 

แล้ว ใครล่ะ จะไปลงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แทน คงหนีไม่พ้น รายชื่อที่มีปรากฏในเนื้อหา นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ส่วน เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. น้องนุชสุดท้อง ข่าววงในบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา น่าจะทำใจรอได้

อีกไม่กี่ชั่วโมงของวันนี้ อังคารที่ 30 สิงหาคม ก็รู้ผล จากมติ ครม.แล้ว ใครที่สมหวังก็ยินดีด้วย ใครผิดหวังก็รออีกสักปี หรือเปลี่ยนเสนาบดีศธ.ค่อยลุ้นกันใหม่อีกรอบ แต่อย่างน้อยจะเป็นการพิสูจน์ได้ถึงคำพูดที่มักได้ยินทุกครั้งที่มีการแต่งตั้ง-โยกย้าย ของราชการ ในทำนองว่า “ค่าของคน หรือ คนของใคร” ตามมาเสมอ

หมายเหตุ เปิดโผ ศธ.ล่าสุดที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง นำเสนอครม.ล่าสุด แจ้งว่า อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. จะคงนั่งในตำแหน่งเดิม ขณะที่ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะได้ไปนั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงศธ. สุเทพ แก่งสันเที๊ยะ เลขาธิการ กอศ.) ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สกศ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ไปเลขาธิการ กอศ. แต่ต้องรอผลครม.อีกครั้ง ลุ้นกลเกม...แต่งตั้ง - โยกย้าย ระดับสูงในศธ. บทพิสูจน์ ค่าของคน...คนของใคร  

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)