เสวนากับบรรณาธิการ ระเบิดลูกใหม่ ในวงการศึกษาทั่วโลก 72% ถอดบทเรียน' เด็กมัธยมมาเลเซีย จะไม่เรียนต่อ อยากเริ่มอาชีพอิสระทันที

 

เสวนากับบรรณาธิการ 

ระเบิดลูกใหม่ ในวงการศึกษาทั่วโลก 72% ถอดบทเรียน' เด็กมัธยมมาเลเซีย จะไม่เรียนต่อ อยากเริ่มอาชีพอิสระทันที 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : vichtep@gmail.com

ขณะที่ ผู้บริหารการศึกษาไทยกว่าพันคนแต่งดำบุกสภาฯ ร้อง กมธ.การศึกษาฯทบทวน พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 41- 42 ขอมีอิสระทำงาน รวมทั้งบรรดาผู้ได้รับการเลือกตั้งให้ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ในนามพรรคการเมือง ต่างพากันชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่พัฒนาคนก็พัฒนาชาติไม่ได้ ต่างเรียกร้องในเลือกตั้งครั้งหน้าขอให้ประชาชน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เลือกพรรคครูเข้ามาเป็นส.ส.ให้มากที่สุด เพื่อกำหนดชะตาของประเทศให้ได้ การเมืองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ก็ยังเป็นที่สงสัยกันว่า จริงหรือ...

อ้างอิง The Star Says News  จากการที่ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (ASM) ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักเรียนมาเลเซีย ถึงเป้าหมายในการเรียนหลังจบ ระดับมัธยมศึกษา พบว่ามีนักเรียนมาเลเซียกว่า 390,000 จากจำนวน 560,000 หรือราวๆ 72.1% ตอบว่าไม่สนใจที่จะ เรียนต่อแล้ว แต่ต้องการเริ่มอาชีพอิสระ เช่นการทำคอนเทนท์ Online หรือ เป็น YouTuber มากกว่า จึงมีนักเรียนเพียง  170,000 คน ที่ยืนยันว่า จะเรียนต่อในชั้นเรียนระดับสูงอย่างแน่นอนเท่านั้น

 

เสวนากับ Edunewssiam จึงขอสะท้อนความเห็นถึงบทบาทที่คนในวงการศึกษาและนักการเมืองไทยควรให้ความสำคัญ... ในสาระแห่งเนื้อหาที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องมาจาก 3 สาเหตุหลัก ที่ทำให้เด็กนักเรียนมาเลเซีย ช่วงอายุระหว่าง 17-18 ปี สนใจเรียนต่อในระดับสูงน้อยลงมาก คือ

1. การขยายตัวของ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ที่มักเรียกว่ากลุ่มงานฟรีแลนซ์ งานรับจ้างเป็นชิ้นๆ ที่ไม่มีสัญญาผูกมัดระยะยาว ที่ตรงกับค่านิยมของหนุ่มสาวยุคใหม่ ที่รักอิสระ เน้นทำงานเฉพาะทางที่อยากทำจริง ๆ

2. จึงตามมาด้วยเหตุผลที่ 2 คืออิทธิพลของสื่อโซเชียลที่กำลังมาแรง และมีโอกาสสร้างรายได้มหาศาล กลายเป็นแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่เลือกเดินสายอาชีพ Influencer, Youtuber, Streamer หรือการขายของทางออนไลน์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ทันที ไม่จำกัดวัย และวุฒิการศึกษา

3. ความเชื่อว่า วุฒิการศึกษาระดับสูงในปัจจุบันไม่สามารถการันตีรายได้ในอนาคต อีกทั้งการเรียนต่อในระดับวิชาชีพขั้นสูง หรือ ในมหาวิทยาลัยก็มีค่าใช้จ่ายสูง ที่บางหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานของยุคนี้อีกแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงการศึกษาของมาเลเซีย ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ยังมีเด็กมาเลเซียอีกถึง 5.8% ที่ไม่เคยเข้าระบบการศึกษาภาคบังคับ หรือมีโอกาสเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน

The Star สื่อยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนมาเลเซียจำนวนมากเลิกเรียนกลางคัน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบระดับมัธยมด้วยซ้ำ ล้วนมาจากปัญหาความยากจน ระบบการศึกษาที่เน้นผลสัมฤทธิ์จากการสอบมากเกินไป และ นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาในระดับสูงอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

ดาโต๊ะ เสรี แอดฮาม บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม แสดงความเป็นห่วงที่เห็นตัวเลขนักเรียนมาเลเซียจำนวนมาก ไม่สนใจจะเรียนต่อในระดับการศึกษาขั้นสูงหลังสอบจบ Sijil Pelajaran หรือ วุฒิมัธยมศึกษาระดับพื้นฐานของมาเลเซีย

ถ้าหากตัวเลขที่ได้จากผลสำรวจนี้ สะท้อนความเห็นของนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่ของมาเลเซียจริง ๆ ย่อมไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว

เพราะเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต แน่นอนว่า จะเป็นยุคที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีระดับสูง หากเด็กนักเรียนในวันนี้ ไม่สนใจต่อยอดพัฒนาทักษะวิชาชีพในขั้นสูง ย่อมมีผลเสียต่อศักยภาพในการผลิต การสร้างนวัตกรรม และ ความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับโลกของมาเลเซียได้ 

เมื่อเป็นในลักษณะเช่นนั้น รัฐบาลมาเลเซีย ไม่ได้วางเฉย แต่มอบหมายให้ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (ASM) หาทางแก้ปัญหาว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมาเลเซีย สนใจเรียนต่อศาสตร์วิชาขั้นสูงให้มากขึ้น หรือปรับแก้หลักสูตรให้สอดคล้องกับค่านิยมของเด็กมาเลเซียในยุคปัจจุบัน โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นแรงเสริมในการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีของประเทศได้ด้วย

และด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไปของนักเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน  อาจมีหลายส่วนที่สะท้อนถึงความคิดของเด็กนักเรียนไทยได้เช่นกัน ซึ่งทางมาเลเซียเล็งเห็นปัญหา และเริ่มแก้ไขแล้ว

เรามองกลับมายังประเทศไทย แม้จะยังไม่มีหน่วยงานไหนกล้าพูดความจริง จะด้วยเหตผลในเชิงงบประมาณหหรือสภาพปัญหาใด ๆ ก็ตาม

เมื่อรู้เช่นนี้สภาพปัญหาการศึกษาของเพื่อนบ้านเช่นนี้แล้ว รัฐบาลน่าจะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพหลักในการเตรียมรับ ฝากความหวังการบ้าน ให้กับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ควรนิ่งเฉยกับสัญญาณกระเพื่อมต่อเนื่องกันมาก่อนการระบาดของโควิด-19 มาถึง ปัจจุบัน ที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการมอบหมายให้สภาการศึกษา นำร่องขับเคลื่อน 

รวมไปถึงผู้บริหาร นักการศึกษาไทย และ นักการเมืองไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วิสัยทัศน์ที่ลึกซึ้ง ใช้ความคิดความอ่านให้เป็นประโยชน์ต่อระบบคิดในเชิงสร้างสรรเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศ ให้ก้าวไปพร้อมๆกับกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยให้ได้ ดีกว่าจะออกมารวมกลุ่มแต่งชุดดำ กดดันเรียกร้องเพื่อให้ได้มาประโยชน์แก่กลุ่มพวกตนเอง 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)