'ตรีนุช' ประชุมบิ๊กสพท.ทั่วไทย ไฟเขียว เกณฑ์ PA ยันเริ่มตุลานี้ ครู'หวั่นละเมิดกม. ถ่ายคลิปเด็ก

'ตรีนุช' ประชุมบิ๊กสพท.ทั่วไทย ไฟเขียว

เกณฑ์ PA ยันเริ่มตุลานี้ ครู'หวั่นละเมิดกม.

ถ่ายคลิปเด็ก

 

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ผู้สื่อข่าว edunewssiam รายงานจาก โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ ว่า  นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และ รองผอ.สพท.ทั่วประเทศ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ เน้นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา ให้มีความก้าวหน้า เป็นรูปธรรมทั้งโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่ง สพฐ.ดำเนินการสำเร็จเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ในการดูแลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา การส่งต่อนักเรียนมัธยมศึกษาสู่สายอาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตครูในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นทีมและช่วยส่งเสริมรูปแบบการทำงาน TRUST ซึ่งถือเป็นระบบที่สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น โดยมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายที่สำคัญ

 

 

ในประเด็นที่อยากสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือเกณฑ์ PA ขอให้เข้าใจตรงกันว่าเราจะดำเนินการต่อไปตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทุกสถานศึกษาจะสามารถเข้าใช้งานระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล หรือ DPA ได้ โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ ในการขยายผลสร้างความเข้าใจในการใช้งานระบบ DPA ให้แก่สถานศึกษาในสังกัด โดยเราจะเปิดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติยื่นคำขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ PA ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเป็นมติของ ก.ค.ศ. และมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ

 

 

ยังกล่าวถึงความสับสนเรื่องเกณฑ์ PA ด้วยว่า “....ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของช่วงเริ่มต้น ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ. ) และเลขาธิการ ก.ค.ศ. หารือร่วมกัน เพื่อสร้างทีมงานมาทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูในเขตพื้นที่ โดยใช้ชื่อทีมงานนี้ว่า “PA Support Team” ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และเพื่อนครูบางส่วน จำนวนเขตพื้นที่ฯละ 8–15 คน รวมประมาณ 2,500 คน โดยทีมงานนี้จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนครูอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ขอให้ผอ.สพท.ทุกเขต กำกับ ดูแล การดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องเกณฑ์ PA ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ ศธ....” นางสาวตรีนุช กล่าว

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ออกหลักเกณฑ์และกำหนดวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู หรือ ว9/2564 หรือ ว PA ให้มีองค์ประกอบในการพัฒนางาน 2 ส่วน คือ ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่ง และข้อตกลงในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ต้องมีผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนตรงตามบันทึกการสอนในชั้นเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งการประเมินผลของครูที่เลือกคาบการสอน ต้องมีการบันทึกคลิปวิดีโอ 1 คลิปการสอนตามหลักเกณฑ์สอนไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการตัดต่อและส่งเป็นไฟล์ดิจิทัลมีความยาวต่อเนื่องกัน

 

 

ซึ่งวีธีการดังกล่าว ทางสำนักข่าว edunewssiam ได้รับฟังเสียงจากคุณครูส่วนใหญ่ ตรงกันว่าไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ดี แต่กระบวนการหรือเกณฑ์ที่กคศ.กำหนดนั้นสร้างความยุ่งยาก และเป็นการเพิ่มภาระงานแก่ทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียน จึงเกิดข้อร้องเรียนจากครูจำนวนมากว่าเกณฑ์ประเมินดังกล่าวไม่เพียงสร้างภาระเท่านั้น ยังทำให้ครูแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ไม่อาจสะท้อนภาพแห่งความเป็นจริงได้ อีกทั้งกรณีถ่ายวิดีโอเด็กนักเรียน ยังมี พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากมีปัญหาทางกระทรวงศึกษาธิการจะมีวิธีการรับมืออย่างไร หากมีปัญหาจริง ๆ

 

ทางสำนักข่าว edunewssiam จะนำมาเสนอความคืบหน้าต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)