วช. หนุนราชมงคลธัญบุรี ปรับเสถียรภาพลาดตลิ่งสระเก็บน้ำพระรามเก้า ตามรอยพระราชดำริ แก้น้ำท่วมยั่งยืน

วช. หนุนราชมงคลธัญบุรี ปรับเสถียรภาพลาดตลิ่งสระเก็บน้ำพระรามเก้า ตามรอยพระราชดำริ แก้น้ำท่วมยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การปรับปรุงเสถียรภาพลาดตลิ่งในสระเก็บน้ำพระรามเก้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้สภาวะการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็วจากภัยแล้ง” ให้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ ละอองจันทร์ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อศึกษาเสถียรภาพและการเคลื่อนตัวของลาดตลิ่งภายใต้สภาวะเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงลาดตลิ่งของสระเก็บน้ำพระรามเก้ากักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ตอนล่าง

 

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมในการนำงานวิจัยมาหนุนเสริมในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงพื้นที่ โดยให้ทุนสนับสนุนทุนวิจัยดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญภายใต้งานวิจัยที่จะเข้ามามีส่วนช่วยได้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืน

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ ละอองจันทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยภายใต้ โครงการปรับปรุงเสถียรภาพลาดตลิ่งในสระเก็บน้ำพระรามเก้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริภายใต้ สภาวะการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็วจากภัยแล้งได้ศึกษาสาเหตุอันเนื่องมาจากสภาวะการลดลงของระดับน้ำ (drawdown conditions) ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงดันน้ำในโพรงดินเป็นสาเหตุให้กำลังต้านทานแรงเฉือนลดลง

 

พบว่าพื้นที่ในสระเก็บน้ำพระรามเก้านั้น มีการเคลื่อนตัวของลาดตลิ่งสูงสุดที่ระดับน้ำ +2.00 เมตร BH-2 มีการเคลื่อนตัวของลาดตลิ่งสูงสุดที่ระดับน้ำ +1.25 เมตร และ BH-3 มีการเคลื่อนตัวของลาดตลิ่งสูงสุดที่ระดับน้ำ -0.50 เมตร จากผลการวิเคราะห์ที่ระดับน้ำ -0.50 เมตร ของหลุมเจาะ BH-3 มีการเคลื่อนตัวสูงสุด และจากการเปรียบเทียบค่าอัตราส่วนความปลอดภัย (Factor of Safety, FS.) ของ BH-1 ถึง BH-3 มีค่าอัตราส่วนความปลอดภัย (Factor of Safety, FS.) มากที่สุดเท่ากับ 3.023 ในหลุมเจาะ BH-3 และน้อยที่สุดเท่ากับ 0.926 ในหลุมเจาะ BH-1 จากการวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนตัวของลาดตลิ่งและค่าอัตราส่วนความปลอดภัย (Factor of Safety, FS.)

 

 

พบว่า ควรควบคุมระดับน้ำของสระเก็บน้ำพระรามเก้า ให้อยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า -2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เนื่องจากถ้าระดับน้ำลดลงต่ำกว่า -2.00 เมตร จะส่งผลให้ลาดตลิ่งบริเวณที่มีความลาดชันสูงเกิดการพังทลาย

 

ต่อมาทีมนักวิจัยได้ทำการสำรวจทางน้ำ โดยเครื่องหยั่งความลึก ตามบริเวณที่มีลาดตลิ่งชันมาก ซึ่งเป็นจุดที่น่าจะมีความเสถียรภาพของลาดดินที่มีค่าต่ำ นำผลที่ได้ดังกล่าวไปวิเคราะห์เสถียรภาพต่อ จากนั้นทำการเจาะสำรวจชั้นดินแบบฉีดล้าง (Wash Boring) จำนวน 6 หลุม นำตัวอย่างดินที่ได้จากการเจาะสำรวจมาทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อทำการหาคุณสมบัติของดิน โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เสถียรภาพของลาดดินด้วยโปรแกรม plaxis 2d และศึกษาการปรับปรุงเสถียรภาพของลาดดินสระเก็บน้ำพระรามเก้าเพื่อให้มีความมั่นคงต่อไป

 

ทั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนาและการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำประปา ยังได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำในสระเก็บน้ำพระรามเก้าและสามารถนำผลการวิจัยมาใช้ในการรักษาระดับน้ำในสระเก็บน้ำพระรามเก้าไม่ให้ลดลงต่ำกว่า -2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเนื่องจากมีผลต่อลาดตลิ่งเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดการพังทลายของลาดตลิ่งอันเนื่องมาจากการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว

 

นับเป็นงานวิจัยที่ช่วยในเรื่องของการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง หรือการระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบแล้ว เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง แนวพระราชดำริแก้มลิง ดังเช่นโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 นี้ยังผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำนับเป็นงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างแท้จริง

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)