ได้อำนาจคืนแล้ว อย่าลืมครูและเด็กนะ

ได้อำนาจคืนแล้ว อย่าลืมครูและเด็กนะ

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : tulacom@gmail.com 

หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …ไปแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปรัฐสภาจะส่งให้นายกรัฐมนตรี นําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ระหว่างนี้ สังคมจะได้เห็นภาพเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา) และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา) เพื่อให้การดำเนินการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างไม่สะดุด ในการเตรียมการรองรับ 3 หน่วยงานด้วยกัน

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ที่เคยกำกับดูแลศึกษาธิการจังหวัด คงต้องเตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จาก กศจ.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ที่มีอยู่ถึง 245 เขตพื้นที่ฯ

สำหรับงานเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ตลอดจนการให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ยังอยู่ที่ กศจ.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะได้รับภารกิจเรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจาก กศจ.,สพฐ.เองก็ต้องงบประมาณรองรับภารกิจใหม่เตรียมคน และเตรียมระบบสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯและบุคลากรให้มีความพร้อม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล  ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบอื้อฉาวอย่างในอดีตที่ผ่านมา

คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) จะต้องกำหนดองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ด้วยว่า องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีผู้แทน กศจ.อย่างน้อย 1 คน และนายอำเภอหรือผู้แทนอย่างน้อย 1 คน สำหรับกรุงเทพมหานครให้มีผู้อำนวยการเขต หรือ ผู้แทนอย่างน้อย 1 คน ร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย โดย ก.ค.ศ.ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ  

อย่างไรก็ตาม หลักการที่สำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับนี้ คือ การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …

เท่ากับเป็นการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุ และแต่งตั้งข้าราชการครูฯในเขตพื้นที่ฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ ให้ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ว.ขอให้เพิ่มเติม นายอำเภอ และผู้แทน กศจ. เข้าไปเป็นองค์ประกอบร่วมใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ด้วย

แม้ว่า การแก้ไขคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ หลายความเห็นไม่ถือเป็นการวนกลับไปที่เดิม เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ คือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของครู

ดังนั้น การให้ กศจ. ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานดำเนินการ จึงทำให้เกิดความซับซ้อนมากกว่าเดิม และการให้จังหวัดดำเนินการเรื่องนี้ ถือเป็นการถอยหลังกลับไปทำในรูปแบบเดิมเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ที่มีศึกษาธิการจังหวัด ผู้ว่าฯดำเนินการ และการให้จังหวัดดำเนินการเรื่องนี้ ถือเป็นการถอยหลังกลับไปทำในรูปแบบเดิมเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว

และการที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปตั้งแต่ วันที่ 15 ก.ย. 65 นั้น  ไม่ถือเป็นการวนกลับไปที่เดิม เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ คือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของครู

การบริหารจัดการรูปแบบนี้ ถือเป็นการเดินไปข้างหน้า ให้เขตพื้นที่ฯดำเนินการ ซึ่งจะมีผู้แทนครูและไตรภาคี ดำเนินการร่วมกัน ส่วน ศธจ.ก็ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในภาพรวมของแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำคัญแต่ว่า เมื่อได้อำนาจกลับคืนไปแล้ว อย่าให้พฤติกรรมเดิม ๆ ของบุคคลผู้มีอำนาจ ปรากฏเป็นเรื่องราวให้ชวนตำหนิถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิด ขาดธรรมาภิบาลสามารถทำให้สังคมวางใจได้ถึงการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพสู่เด็กนักเรียนในภาพรวมของแต่ละจังหวัด เป็นไปในทิศทางที่สังคมปรารถนาและคาดหวัง   

รวมไปถึงการทำงานในลักษณะบูรณาการเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา วัยแรงงาน ที่เป็นประเด็นปัญหาท้าทายรัฐบาลทุกยุคต้องเร่งแก้ไข การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)