รัฐปลื้ม!ครูแห่ลงทะเบียนแก้หนี้กว่า 5.8 หมื่นล้าน ผอ.สหกรณ์ครูสมุทรปราการ... มึนโดนร้อง...

 

รัฐปลื้มครูแห่ลงทะเบียนแก้หนี้กว่า 5.8 หมื่นล้าน ผอ.สหกรณ์ครูสมุทรปราการ... มึนโดนร้อง... 

เรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ก็ยังมีผู้ติดตามความเดิมสืบเนื่องจากการแก้ปัญหาครูเป็นหนี้ สายตรง edunewssiam อยากให้ติดตามถามถึง ประเด็นเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ พร้อมตัวแทนสมาชิกเครือข่ายสมาชิกฯ เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. เป็นผู้รับเรื่องแทน ค้างคามาตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2565 ไปถึงไหนแล้ว  

 

เมื่อนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตีฆ้องบอกกล่าวให้ประชาชนรับทราบทั่วกันว่า ปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนของประชาชน และหนี้สินหมุนเวียนอื่น ๆ ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมต่าง ๆ

 

โดยยกย้ำถึงปัญหาหนี้สินข้าของราชการครู พบว่า มีหนี้สินจากการเบิกเงินเกินบัญชี ตามด้วยหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้สินอื่น ๆ สะสมต่อเนื่องกันมาอีกจำนวนมิใช้น้อย จนกลายปัญหาระดับชาติ ซึ่งทุกวันนี้ แม้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้รวดเร็ว แต่ก็เป็นความวาดหวังในทางที่ดี

 

อย่างน้อยทำให้รู้ถึงตัวเลขปัจจุบันที่เป็นทางการว่า มีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท  และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ

 

 

จริง ๆ แล้ว ตัวเลขที่ครูเป็นหนี้นอกระบบอีกเท่าไร ยังมิอาจรู้ได้ หากมีการติดตามหวังผลนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เท่ากับเป็นการคืนความสุขให้กับครูได้จริง ๆ  

 

แต่ในภาพรวมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว นับเป็นข่าวดี ถือว่าได้ใจครูไปเต็ม ๆ มิใช่น้อย อย่างเช่น  

 

เรื่องแรก สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ ส่งผลให้บรรดาครูได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

เรื่องที่สอง มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยรวมหนี้ครูมาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อช่วยให้ครูมียอดชำระต่อเดือนน้อยลง และเหลือเงินเดือนหลังหักชำระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

 

เรื่องที่สาม กำหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง รวมแล้วกว่า 2.3 พันล้านบาท และ

 

เรื่องที่สี่ การแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศนั้น มีครู ลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน

เรื่องสุดท้ายที่เหลือ เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ "ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก"  เวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 ที่จังหวัดกำแพงเพชร ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ก็ยังมีผู้ติดตามความเดิมสืบเนื่องจากการแก้ปัญหาครูเป็นหนี้ ส่งตรง edunewssiam อยากให้ติดตามถามถึง ประเด็นเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ พร้อมตัวแทนสมาชิกเครือข่ายสมาชิกฯ เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. เป็นผู้รับเรื่องแทน ค้างคามาตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2565 ไปถึงไหนแล้ว  

 

เนื้อหาสำคัญ เรียกร้องให้ตรวจสอบผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ฉะเชิงเทรา และ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด ถือว่ามีบทบาทเป็นทั้งนายจ้างและเจ้าหนี้

 

นอกจากไม่สนองนโยบายของ ศธ.แล้ว กลับปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัวต่อระเบียบของ ศธ. โดยมีพฤติกรรมดังความสรุปต่อไปนี้...

 

...การอนุมัติเงินกู้ให้กับข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา ที่มีเงินเดือนเหลือต่ำกว่า 30% รวม 1,000 ราย แม้จะมีการทักท้วงจากคณะกรรมการในคำสั่งศาลปกครอง และแนวปฏิบัติของ ศธ. ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

เมื่อมีการอนุมัติให้คนที่เงินเดือนต่ำกว่า 30% กู้ได้ และปล่อยจำนวนเงินกู้ที่ที่เกินศักยภาพมากขึ้นนั้น หากผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ล้วนส่งผลต่อผู้ค้ำประกันอีกจำนวนมาก ที่ต้องถูกดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ เท่าที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดมากสำหรับผู้ค้ำประกัน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเพิ่มวงเงินกู้ในทุกประเภทอีกจำนวนมาก แทนที่จะทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหนี้ลดน้อยลง ยังส่งผลให้เป็นหนี้เพิ่ม หรือลดรายจ่ายลงตามแนวทางของ ศธ.  

 

เพียงเพราะสหกรณ์ปล่อยเงินกู้ แทนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาให้เกิดแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นครู และสิทธิขั้นพื้นฐานที่ครูควรจะได้รับ

 

ตามข่าวสรุปว่า ผู้รับเรื่องจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทราบ เพื่อให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว

 

 บัดนี้ เรื่องราวล่วงเลยกลางเดือนกันยายน 2565 แล้ว เกรงว่าจะเงียบหายเข้ากลีบเมฆ ศธ.และรัฐบาลจะเสียรังวัดไปโดยใช่เหตุ ใครที่ไปรับปากกับ เครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ ไว้อย่างไรน่าจะขยับชี้แจงได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนข้องใจทั้งผู้ร้องเรียนและข้อเท็จจริงจากผู้ถูกกล่าวถึง

 

รวมไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมวศธ.ที่อยู่ในความคาดหวังของรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนของประชาชน และหนี้สินหมุนเวียนอื่น ๆ ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมต่าง ๆ

 

ทำดีมาตลอด หากเป็นเรื่องจริงดังกล่าว อย่าให้ปลาเน่าตัวเดียวต้องเหม็นทั้งเข่ง

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)