25 อันดับแรก สถานศึกษาชำระหนี้ กยศ. ดีที่สุด แต่อนาคตจะรอดไหม

25 อันดับแรก สถานศึกษาชำระหนี้กยศ.ดีที่สุด แต่อนาคตจะรอดไหม 

 

... เพราะความยากจนกีดกันเยาวชนบางส่วนออกจากระบบการศึกษา เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีรายได้มากพอจะจ่ายค่าเล่าเรียน การสูญเสียโอกาสทางการศึกษาจึงเปรียบเหมือนการสูญเสียโอกาสของประเทศ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงหยิบยื่นโอกาสให้กับเยาวชน เพราะเชื่อว่าการลงทุนในการศึกษาจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต...

 

ในโอกาสนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. กองทุน กยศ. ได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 313 แห่ง พบว่า มีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61%

เมื่อพิจารณาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้มากกว่า 2,000 ราย พบว่า สถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่

มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ คือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

เมื่อนำมาเรียงตามลำดับ พบว่ามหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 10 อันดับแรก มีดังนี้

มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตามด้วยลำดับที่ 11-25 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนฯ เคยกล่าวชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานกองทุนชื่นชมถึงข้อมูลนี้ ว่า...

"วันนี้เราเข้าถึงข้อมูลเงินเดือนน้อง ๆ ที่กู้ กยศ. และอยู่ระหว่างชำระหนี้ประมาณ 4 ล้านคน เมื่อเรียนจบแล้วเข้าไปทำงานในระบบราชการและบริษัทเอกชนประมาณ 1.6 ล้านคน นายจ้างเขาก็จะหักเงินเดือนส่งให้กองทุนผ่านทางกรมสรรพากร ซึ่งตอนนี้หักเงินเดือนไปแล้วประมาณ 9 แสนคน"  

เท่ากับสถานศึกษามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างวินัยและปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับนักเรียน-นักศึกษาที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งการที่กองทุนชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานกองทุนและมีส่วนในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืม จนทำให้กองทุนได้รับชำระเงินคืนกลับมาหมุนเวียนเพียงพอในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องต่อไป

จากข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 986,668 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,669,129 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,559,421 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 ราย

สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท และผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำงานของกยศ.กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่เมื่อวันนี้ (14 กันยายน) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ด้วยคะแนนเห็นด้วย 314 ไม่เห็นด้วย 3 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ในประเด็น ‘เมื่อผู้กู้ยืมเงินต้องชำระเงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะให้มีหรือไม่มีดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม’

 

ที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยกับผู้สงวนฯ ฉบับของ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดลพบุรี พรรคเพื่อไทย ที่กำหนดให้การกู้ยืมไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่มีดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ทำให้การพิจารณาในมาตราถัดไปต้องแก้ไขข้อความเนื้อหาให้มีความสอดคล้อง

 

ดังนั้นการที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความห่วงใยอย่างจริงจังหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ด้วยเหตุดังกล่าว เท่ากับมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่แก้ไขให้กู้นี้ จึงเป็นเรื่องน่าคิดอีกมากมายในสังคมไทยจะต้องติดตาม เนื่องจากการปล่อยเงินกู้ยืมหลังจากนี้

...หากไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีคนค้ำประกัน ไม่มีเบี้ยปรับ และไม่มีเงินเพิ่ม จะก่อให้เกิดความรู้สึกได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างกลุ่มผู้กู้ยืมที่ได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นก่อนหน้านี้หรือไม่... 

 

และกยศ. จะดำเนินการอย่างไร ในการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับทุนกู้ยืมและจำนวนเงินกองทุนจะลดลง เนื่องจากไม่มีดอกเบี้ย กฎหมายฉบับนี้แม้จะส่งผลดีต่อผู้กู้ยืมเงินที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่อาจส่งผลต่อการอยู่รอดของ กยศ. ในอนาคต 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)