ตรีนุช' เห็นชอบปรับเกณฑ์ ครูพื้นที่ห่างไกล-อันตราย' ได้เฮ ขอวิทยฐานะ 4 ปี เหลือ 3 ปี เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ตามด้วยปลดล็อคบรรจุครู

ตรีนุช' เห็นชอบปรับเกณฑ์ ครูพื้นที่ห่างไกล-อันตราย' ได้เฮ ขอวิทยฐานะ 4 ปี เหลือ 3 ปี เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ตามด้วยปลดล็อคบรรจุครู

 

เป็นข่าวดีไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขวัญและกำลังใจ แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาการ ที่คุณครูปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน 3,490 แห่ง สามารถใช้เงื่อนไขสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ มาร่นระยะเวลา เพื่อยื่นขอมีวิทยฐานะ หรือขอเลื่อนได้เร็วขึ้น 1 ปี

ตามข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ให้ลดระยะเวลาในการเสนอขอมีวิทยฐานะ หรือเลื่อนวิทยะฐานะของบรรดาคุณครูในพื้นที่อันตราย หรือพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จากเดิม 4 ปี เหลือเพียง 3 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ เป็นต้นไป

ว่ากันว่า เป็นการสนับสนุนแผนดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา

จับไปที่ตัวเลขข้อมูลจากศธ. จำนวนสถานศึกษาในปี 2565 มีจำนวนถึง 3,490 แห่ง ที่คุณครูปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเหล่านี้ สามารถใช้เงื่อนไขสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ มาร่นระยะเวลา เพื่อยื่นขอมีวิทยฐานะ หรือขอเลื่อนได้เร็วขึ้น 1 ปี

ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ศธ.ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครู โดยเฉพาะครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ยากลำบาก หรือมีความอันตราย มีความเสี่ยง แต่ยินดีที่จะทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนของเราให้เติบโตเป็นคนดี และเป็นคนเก่ง

ลงในรายละเอียดถึงสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

สถานศึกษาที่ได้รับการประกาศเป็นสำนักงานในพื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง

สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา 4 อำเภอ และกลุ่มสถานศึกษาที่มีความยากลำบากของการคมนาคมและมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการศึกษา เช่น เป็นสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่เกาะ พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร

หรือสถานศึกษาที่รองรับกลุ่มชาติพันธุ์ แยกตามต้นสังกัด ได้แก่ สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. 2,633 แห่ง กศน. 842 แห่ง และ สอศ. 15 แห่ง

น่ายินดีว่า คุณครูที่ขอเลื่อนวิทยฐานะ ก็ยังสามารถเสนอผลงานผ่านระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ด้วยเช่นกัน

แม้จะมีข้อกังวลในการขอวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบ DPA ในช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่บ้าง เนื่องจากการกำหนดให้มีอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แทนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตามที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 นั้น

แต่...ครูยังสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอมี หรือเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบ DPA ได้ตามปกติโดยไม่กระทบสิทธิ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ที่ประชุม ก.ค.ศ. ยังเห็นชอบการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกในสถานศึกษา ตามที่ สพฐ.เสนอขอปรับแก้ไขเป็นสาขาวิชาเอกในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ

เท่ากับเป็นการปลดล็อค เรื่องการเรียงลำดับการบรรจุครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกระดับประถมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษามีความยืดหยุ่น และมีความคล่องตัวในการบริหารอัตรากำลังสายงานการสอนอีกด้วย

อีกทั้ง เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดครูให้ครบชั้น ครบวิชา ได้ครูครบตามเกณฑ์ เป็นไปตามความต้องการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษาตามความต้องการจำเป็น

เท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่จะช่วยให้มีครูครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  

ต้องยอมรับว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงนี้ ไอเดียกระฉูดขานรับในลักษณะทำงานเชิงรุกทะลุเป้า ได้ใจครูไปเต็ม ๆ

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)