ศธ.ยกเลิกประกาศ มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด ในสถานศึกษา เริ่ม 1 ตุลาคม นี้

EdunewsSiam : จับกระแสข่าวเด่น 

ศธ.ยกเลิกประกาศ มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด ในสถานศึกษา เริ่ม 1 ตุลาคม นี้

ไล่เรียงเรื่องราวกว่าจะถึงวันนี้...สืบเนื่องจาก ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน มีมติยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" หลังประกาศใช้มานานกว่า 2 ปี พ่วงยุบ ศบค. มีผล 30 ก.ย.นี้

ยกอ้าง เมื่อ 23 ก.ย.2565  ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 12/2565 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลวันที่ 30 ก.ย.นี้

...ยืนยันว่า หากมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลไม่กังวล เพราะได้วางระบบไว้หมดแล้ว ที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรัฐบาลวางระบบรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่...และยืนยันว่าจะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฎหมาย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรง กระทรวงต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงการทำงาน....                                                                             นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค.

ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบันใช้มากว่า 2 ปี และมีการขยายอายุประมาณ 19 ครั้ง

ดูจากสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจ ATK มีการรายงานเข้าระบบ 13,000-14,000 คนต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง

จึงเป็นเหตุผลการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้

หากมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลไม่กังวล เพราะได้วางระบบไว้หมดแล้ว

ที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค.ด้วย ซึ่งมีผล 30 ก.ย.นี้

ต่อมา เมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2565 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถานบันการศึกษาตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ยกอ้าง...เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

และในการประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ได้มีมติยกเลิกประกาศการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อกลับไปใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

กระทรวงศึกษาธิการ จึงออกประกาศ ดังนี้

-      ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564                       

และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ (เพิ่มเติมครั้งที่ 1) ลงวันที่ 3 มกราคม 2565

-      ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 

ให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)