ยูนิเซฟ แจงสิทธิในโรงเรียนสำหรับนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา
โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ ฝึกฝน เคารพ และปกป้องสิทธิเด็ก
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
❝ ...สิทธิเด็กในประเทศไทย มีระบุไว้เป็นบทบัญญัติในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ของเด็กนักเรียนไม่ควรต้องถูกละทิ้งไว้ ณ ประตูโรงเรียน โรงเรียนควรสอนเด็ก ๆ ถึงสิทธิของพวกเขา รวมทั้งให้ความเคารพ และเน้นย้ำถึงสิทธิของเด็ก...❞
สิทธิในโรงเรียนในโรงเรียนเป็นอย่างไร
# เด็กทุกคนในโรงเรียน รวมทั้งเด็กที่มีความพิการ เด็กชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และเด็กชนกลุ่มน้อย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียน
# สนับสนุนการเคารพซึ่งกันและกัน และการไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และสถานะทางเพศในหมู่นักเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และในสังคมในวงกว้าง
# นักเรียนเรียนรู้เรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กทั้งในหลักสูตรการเรียนและกิจกรรมนอกเวลา
# โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย เหมาะสมกับทุก ๆ คน และมีวัฒนธรรมการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน
สำหรับนักเรียนในประเทศไทย: พึงรักษาสิทธิของตนเองในโรงเรียน
การศึกษาเล่าเรียนไม่ใช่เรื่องของตำราเรียนและผลการเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงว่าเด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม การที่จะทำเช่นนั้นได้ นักเรียนจำเป็นต้องรู้ถึงสิทธิของตน ซึ่งต้องมีการเคารพสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้โดยปราศจากเงื่อนไข และจะเป็นการดีหากเด็ก ๆ เข้าใจถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาจะต้องได้รับการคุ้มครอง
● นักเรียนมีสิทธิที่จะแสดงออกในโรงเรียน และมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย ตราบเท่าที่การกระทำนั้น ๆ ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น หรือขัดแย้งกับกฎระเบียบของโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ
● นักเรียนสามารถเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสันติที่จัดขึ้นนอกสถานศึกษาได้เช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่น ๆ ทั่วไป ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถทำโทษทางวินัยนักเรียนได้หากมีการขาดเรียนเช่นเดียวกับการขาดเรียนปกติ แต่โรงเรียนไม่สามารถทำโทษนักเรียนเนื่องจากข้อความ หรือพฤติกรรมใดที่เกี่ยวข้องการเมืองได้
● หากนักเรียนเป็นผู้ประสบ หรือเป็นผู้พบเห็นการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ให้รายงานต่อพ่อแม่ หรือบุคลากรโรงเรียนที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองเด็กทันที โดยให้รักษาเป็นความลับและมีความรับผิดชอบ โรงเรียนควรจะต้องติดตามดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามกฎระเบียบของโรงเรียน และแนะนำช่องทางเข้าถึงบริการเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ
นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถติดต่อหมายเลขศูนย์ประชาบดีโทร 1300 สายด่วน 24 ชั่วโมง เพื่อรายงานเรื่องความรุนแรงต่อเด็กได้ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และ แอนดรอยด์
● นักเรียนสามารถปกป้องสิทธิและความสนใจของตนเองได้ ด้วยการเข้าร่วมหรือปรึกษาสภานักเรียนในโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่แจ้งความเห็นและความกังวลใจต่าง ๆ ต่อครูและผู้บริหารโรงเรียน ระดมทุนเพื่องานโรงเรียน โครงการ และงานการกุศลของโรงเรียน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโรงเรียน
ทั้งนี้ การใช้สิทธิและความสามารถของตนในฐานะนักเรียนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถรวมถึงเรื่องอื่น ๆ อย่างการเป็นอาสาสมัคร ไปจนถึงเรื่องการสร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วย
สำหรับคุณครู และผู้บริหารโรงเรียนในประเทศไทย: สอนนักเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน ด้วยวิธีการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่สิทธิมนุษยชนในโรงเรียน
การตระหนักถึงสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียน และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียนเป็นความรับผิดชอบหลักของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทุกคนในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ แทนที่จะบูรณาการเรื่องสิทธิเด็กเข้ากับกิจกรรมเพียงบางกิจกรรมในห้องเรียนแล้ว
ควรมีแนวทางเรื่องสิทธิเด็กที่ปรับใช้กับทุกอย่างในโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนรู้สึกปลอดภัย ได้รับการสนับสนุน มีส่วนร่วม และได้เชื่อมั่นว่าพวกเขาได้รับการรับฟัง
● จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงสิทธิทั้งหมดของตน ไม่ใช่เพียง แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง รวมทั้งการเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย โดยให้การเรียนรู้ เป็นไปอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และเหมาะสมกับกลุ่มอายุของนักเรียน
● ปฏิบัติต่อนักเรียนในฐานะที่เป็นพลเมือง ซึ่งมีบทบาทและสิทธิตั้งแต่บัดนี้ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะพลเมืองในอนาคต
● เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน ด้วยการแสดงความเคารพต่อสิทธิของผู้อื่น
● สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นในโรงเรียน ตลอดจนมีกลไกสำหรับสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้นของนักเรียนให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้แนะนำให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมเรื่องเสรีภาพการแสดงออก
● ไม่จำกัดหรือทำโทษนักเรียนในการแสดงความคิดเห็น แต่ให้นำความเห็นต่างมาเป็นตัวอย่างในการสอนนักเรียน ผ่านการสร้างวินัยเชิงบวก
● โรงเรียนมีหน้าที่เข้ามาดูแลเมื่อพบว่า นักเรียนใช้ประทุษวาจาข่มเหงรังแก ว่ากล่าวให้ร้ายกันทำให้เกิดความอับอาย หรือล่วงละเมิด
ทั้งนี้มาตรการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับโรงเรียน และหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยไม่ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกายต่อนักเรียนซึ่งเป็นการผิดกฎหมายประเทศไทยโดยเด็ดขาด รวมถึงการไม่ใช้วิธีข่มขู่นักเรียน
● ความรุนแรงทุกรูปแบบในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ควรถูกกล่าวโทษ โดยมีมาตรการรับมือและป้องกันการใช้ความรุนแรงอย่างทันทีในทุกกรณี ต้องมีการใช้นโยบายคุ้มครองเด็กอย่างยุติธรรม
ซึ่งรวมถึงการร้องเรียนโดยช่องทางที่ไม่เก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ และมีการส่งต่อนักเรียนให้เข้าถึงบริการให้คำปรึกษา บริการคุ้มครองเด็กและบริการอื่น ๆ
รวมทั้งมีระบบรองรับในการเยียวยาผู้ได้รับความรุนแรง และดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อผู้ก่อเหตุและทันท่วงที
(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)