พายุโนรูถล่มไทย สสส.-ภาคีเครือข่าย สานพลังช่วยภัยน้ำท่วม

 

พายุโนรูถล่มไทย สสส.-ภาคีเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สานพลังเฝ้าระวังภัยน้ำท่วมทั่วไทย พัฒนากลไกช่วยเหลือ ‘รู้รับปรับตัว’ ตั้งรับภัยพิบัติ เน้นระบบสื่อสารแจ้งเตือนภัย ด้านนายกอบต.ยางขี้นก จ.อุบลฯ ตั้งรับน้ำท่วมเพิ่ม เตรียมขอเรืออพยพ ระดมเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ลาดตระเวน จัดการพื้นที่ทันท่วงที

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.  กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อน  “โนรู”  พัดเข้าเวียดนาม ส่งผลกระทบถึงไทยในหลายจังหวัด ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว สสส. และภาคีเครือข่ายตำบลสุขภาวะทุกภูมิภาค เร่งสนับสนุนการจัดการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับกระทบ โดย สสส. ได้พัฒนาระบบการจัดการพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัว และตั้งรับได้ สถานการณ์ภัยพิบัติ จัดอบรมพัฒนาและความเชี่ยวชาญ เช่น การกู้ภัยทางน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมทั้งมีจิตอาสา อาสาสมัครเชี่ยวชาญระดับตำบลในการปฏิบัติงาน เช่น เคลื่อนย้ายสิ่งของ ทำครัว ประเมินความเสียหาย

 

ดร.ประกาศิต  กล่าวต่อว่า  แผนจัดการชุมชนรู้รับปรับตัว ใช้ยกระดับการทำงานของชุมชนเข้มแข็ง และเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่วยปรับวิธีการทำงานของชุมชนให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าได้ทุกกรณี ทั้งโรคระบาด ภัยพิบัติ และปัญหาสังคม โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติ มุ่งให้ความสำคัญการวางระบบสื่อสารเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ 1.สื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้ เช่น ฝึกทักษะสมาชิกครอบครัวเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ข่าวสารหลายช่องทาง ฝึกอบรมทักษะการสื่อสารของอาสาสมัคร 2.สื่อสารเพื่อแจ้งเตือนภัย เช่น จัดทำระบบแจ้งเตือน สื่อสารวงกว้างผ่านหอกระจายข่าว 3.สื่อสารเพื่ออพยพ เช่น ประชาสัมพันธ์เส้นทางการอพยพ การซ้อมแผนการอพยพ 4.สื่อสารเพื่อการช่วยเหลือ เช่น จัดทำระบบติดตามเฝ้าระวัง ประสานการช่วยเหลือ การช่วยเหลือเบื้องต้น และการส่งต่อ 5.สื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือ 6.ประสานกับหน่วยงาน/องค์กรภายนอก ได้ทันท่วงที ทำให้สามารถการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ

 

 

นายเทียน แผลงฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  กล่าวว่า อบต.ยางขี้นก มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน 1,390 หลังคาเรือน พายุโนรูทำให้ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และต้องเฝ้าระวังน้ำจากแม่น้ำลำเซบาย ที่อาจเอ่อท่วม ถนนหลายเส้นเกิดความเสียหาย จากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ อบต.ยางขี้นกมีประสบการณ์และบทเรียนสามารถรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจากผลกระทบจากพายุโนรูได้ โดยได้รับความร่วมมือจาก 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่น ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงการทำงานเป็นเครือข่ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายทั้ง 19 แห่ง ในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเขื่องใน(พชอ.) เข้ามาหนุนเสริมการทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยชุมชนท้องถิ่นอำเภอเขื่องใน(พชอ.) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3)

 

 

นายเทียน กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน อบต.ยางขี้นกและเครือข่ายได้มีการระดมการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ประชาชนในพื้นที่ มีทักษะการกู้ภัย เตรียมพร้อมความช่วยเหลือ อาทิ เช่น จัดเรือในการขนย้ายและอพยพ จัดหน่วยลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านยกของขึ้นที่สูง และเตรียมเคลื่อนย้ายหากน้ำท่วมสูงเฉียบพลัน ประสานไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการ เครือข่ายอาสาสมัคร พร้อมประชุมอย่างเร่งด่วน และรายงานสถานการณ์แบบ real time ผ่านกลุ่มไลน์ พชอ.อำเภอเขื่องใน จากการเตรียมตั้งรับปัญหา และจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า จึงทำให้ไม่ตื่นตระหนกมากหนัก ขณะนี้ทาง อบต.ยางขี้นก ได้เฝ้าระวัง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ คาดว่าจะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที