เสวนากับบรรณาธิการ ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา 'ป้องกันไว้ดีกว่าแก้'

ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา 'ป้องกันไว้ดีกว่าแก้'

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. แสดงความเสียใจต่อครู ผู้ปกครอง และทุกครอบครัวที่สูญเสียกับเหตุการณ์สุดสะเทือนใจดังกล่าว

 

และเรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องราวในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบล กระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่ในภาพรวมที่เกี่ยวกับเด็ก บุคลากร และสถานที่ ย่อมมีความเป็นหนึ่งในนโยบายเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่ ศธ.ได้ผลักดันและกำชับมาตลอด

ดังนั้น การทำให้โรงเรียนปลอดภัยหรือสถานที่ที่เด็กเข้าไปอยู่รวมกันจำนวนหนึ่ง เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขา ย่อมจะทำให้ผู้ปกครองวางใจและมั่นใจส่งบุตรหลานเข้ามาอย่างไร้กังลทุกด้าน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะมีมาตรการปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่บ้างแล้ว ก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น สำหรับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการเข้า-ออก มีการตรวจค้น มีป้ายบอกถึงการห้ามพกพาอาวุธ วัตถุอันตราย ระบุถึงข้อกฎหมายที่ชัดเจนในทุกแห่ง

เพราะวันนี้ ภัยไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนเท่านั้น ยังมีภัยที่เกิดจากบุคคลภายนอกด้วย ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลเด็ก

การที่น.ส.ตรีนุช มอบหมายสั่งการเป็นนโยบายเร่งด่วน สั่งให้ทุกสถานศึกษาทุกสังกัด ศธ. จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งเชิงรับและเชิงรุกคู่ขนานกันไป เพื่อให้เด็ก และครู มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องทันการ

อย่างแรก หนึ่งในโครงการ MOE Safety Center  คือ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ศธ.ได้สร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนส่วนกลางขึ้นมา เพื่อให้สามารถเข้าถึงทุกปัญหาทั่วประเทศได้แบบเรียลไทม์พัฒนาการศึกษา ภายใต้แนวคิด ‘ซ่อม สร้าง ป้องกัน’ คู่กับยกระดับการศึกษาในทุกมิติ ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น

อีกทั้ง ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังขานรับให้วิทยาลัยเทคนิค ที่เปิดสอนในสาขาวิชาเกี่ยวข้อง อาทิ ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างแมคคาทรอนิกส์ และช่างไฟฟ้า จัดทำและติดตั้งระบบป้องกันภัย ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ

มีระบบควบคุมความปลอดภัยคุณภาพสูง อาจใช้ระบบสแกนนิ้วมือ/สแกนใบหน้า แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนรูปภาพและข้อความบุคคลเข้าออก ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จากระยะไกลผ่าน ในราคาต้นทุนด้วย

อีกทั้งข้อดีของกล้องวงจรปิดและมีมากมายหลายประการ ทั้งบันทึกภาพสอดส่องดูจุดที่ล่อแหลม จับพฤติกรรมของบุคคลที่น่าต้องสงสัย เชื่อมต่อออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการแจ้งเหตุ ป้องกันเหตุร้าย ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีผลต่อการป้องกันเด็กและครู บุคลากรฯ ตลอดทรัพย์สินปลอดภัยและยิ่งอุ่นใจมากขึ้น

เมื่อพินิจในสภาพความเป็นจริงแล้ว สถานศึกษาคงดูแลความปลอดภัยแต่ลำพังเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ควรจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่ได้รับการฝึกอบรม สามารถรับมือกับการเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ร่วมกันจัดสายตรวจหมุนเวียนกันเข้าไปดูแล เป็นระยะ ๆ  เช่นกัน

และที่สำคัญมิน้อยกว่ากัน คือ เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์ครบครันกันแล้ว ในแต่ละแห่งควรมีตารางการดูแลตรวจสอบ และ ฝึกซ้อมตามแผนในลักษณะ‘ซ่อม สร้าง ป้องกัน’ ที่ ศธ.กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ # ผู้ตรวจราชการฯ #  ศึกษาธิการจังหวัด  # ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ  คงต้องเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของกลไกในการขับเคลื่อน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา เช่นกัน  

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage