เบื้องหลังประติมากรรม ในหลวง ร.9 : กว่าจะมาถึงวันนี้

เบื้องหลังประติมากรรม ในหลวง ร.9 : กว่าจะมาถึงวันนี้

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร.9 หล่อด้วยโลหะสำริด มีความสูง 5.19 เมตร ขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักสวนจิตรดา ถนนศรีอยุธยา ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม สูง 18.7 เมตร ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้แนวคิด สวนแห่งความสุข และความยั่งยืน แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 297 ไร่ บริเวณหัวมุมสามแยกนางเลิ้ง ล้อมรอบด้วย ถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 5 และถนนพิษณุโลก ในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต

แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยม มีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แห่งนี้ เกิดขึ้นจากพระบรมราโชบาย ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชทานอุทยานให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน ดิน น้ำ ป่า ของทั้งสองพระองค์

และอีกหนึ่งเรื่องราวที่ ชาวเน็ตจำนวนมากต่างกดไลค์และคอมเม้นต์ชื่นชมกันอย่างต่อเนื่อง หลัง อ.สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากรเอกระดับโลก ผู้อยู่เบื้องหลังประติมากรรม พระบรมรูป ในหลวง รัชกาลที่ 9 เล่าถึงหลัง ร.10 ทอดพระเนตรพระบรมรูป ร.9 ทรงตรัส " ปั้นพ่อยิ้มได้ด้วย พ่อไม่ค่อยยิ้ม เก่งมาก เมื่อเฟซบุ๊ก กว่าจะเป็น "ไทย" ในวันนี้ 

พร้อมเผยภาพและเรื่องราว เบื้องหลังประติมากรรม พระบรมรูป ในหลวง รัชกาลที่ 9 ความว่า...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ประดิษฐานบนปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เคียงข้าง พระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 8

โดยเมื่อวันจักรี พุทธศักราช 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีประดิษฐานและ สมโภชพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ที่ปราสาทพระเทพบิดรแห่งนี้ ซึ่งเป็นประจำทุกปีในวันที่ 6 เมษายน ตรงกับวันจักรี และวันที่ 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล หรือวันสำคัญต่าง ๆ ปราสาทพระเทพบิดร จะเปิดให้พสกนิกรเข้าถวายบังคมพระบรมรูปล้นเกล้าฯ ทุกรัชกาล เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบชั่วนิรันดร์

กระทั่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 อ.สันติ ได้รับการติดต่อให้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานไว้ในปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเขารู้สึกปลื้มปีติมาก

ตอนที่ผมเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์รับสั่งว่า "ปั้นพ่อยิ้มได้ด้วย พ่อไม่ค่อยยิ้ม เก่งมาก ปั้นได้อย่างไร เราไปเก็บของพ่อที่พระราชวังไกลกังวล พ่อเคยบอกว่า ถ้าอยากได้อะไร ไม่ต้องไปขอใครหรอกลูก ให้มาขอพ่อ แล้วจะให้ไปขอพ่อที่ไหน พ่อจากไปแล้ว"

ในช่วงตอนหนึ่ง ที่ อ.สันติ ได้เล่าต่อว่า ในหลวง รัชกาลที่ 10 ตรัสว่า อาจารย์ไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำไมปั้นได้ถึงขนาดนี้ ดูมีจิตวิญญาณ มีชีวิต เก่งมาก ๆ เลย

ผมเคยเรียนในโรงเรียนรัฐบาล คุณพ่อเป็นครู คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า เวลาอยู่หน้าเสาธง ผมจะพูดตลอดว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผมฝึกวาดรูปรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ ป.1 วาดโดยไม่ต้องดูเลย พอมา ป.5 ก็ปั้นเหรียญบาทส่งครูในวิชาศิลปะ

"ผมเคยฝันถึงพระองค์ท่านสองครั้ง ในความฝันก็เป็นที่เดิมทั้งสองครั้ง ผมฝันว่า สักวันหนึ่ง ถ้าเราเก่งเราจะได้ปั้นพระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 ตอนพระองค์สวรรคต ภรรยาชาวอเมริกันก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องมาเมืองไทย ผมมองไปบนท้องฟ้า แล้วพูดว่า ขอพระองค์ใช้งานผมให้มาปั้นพระบรมรูปพระองค์ท่าน" อ.สันติ ระบุ...

ก่อนที่จะเล่าทิ้งท้ายว่า "ผมเริ่มปั้นขึ้นรูปด้วยดินวันที่ 5 ธันวาคม 2560 จนพระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 เสร็จกลางเดือนพฤษภาคม 2562

เป็นเวลา 2 ปี ที่ผมหยุดงานทุกอย่างเพื่อทำรูปปั้นพ่อ ใช้วิชาความรู้บวกกับประสบการณ์ทำงานทำให้ดีที่สุด โดยมีเพื่อน รุ่นน้อง และลูกศิษย์ร่วมด้วยช่วยกัน

ทุกคนมาด้วยใจ ในหลวง ร.9 ทรงเป็นพ่อของทุกคน และพ่อสอนว่า สามัคคีคือพลัง ผมนำทุกคำสอนพ่อมาปั้นพระองค์ท่าน ตลอดจนใช้ในการดำเนินชีวิต

สำหรับเสียงชื่นชม เมื่อผลงานปรากฏออกมาไม่ได้หลงตัวเอง รู้สึกขอบคุณและมีความสุขเมื่อคนเห็นรูปปั้นแล้วนึกถึงพระองค์ท่าน ถือเป็นเกียรติประวัติของครอบครัว ครูบาอาจารย์ และสถานศึกษา"

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กว่าจะเป็น"ไทย"ในวันนี้

cc : ไทยโพสต์ 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage