เกศทิพย์'ปลื้มค่ายโอลิมปิกวิชาการ ร้อยเอ็ด ร.ร.ปั้นเด็กสร้างนวัตกรรมเชิงประจักษ์หลากหลาย

เกศทิพย์'ปลื้มค่ายโอลิมปิกวิชาการ ร้อยเอ็ด ร.ร.ปั้นเด็กสร้างนวัตกรรมเชิงประจักษ์หลากหลาย   

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนแกนนำ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และ Best Practice พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจ คณะทำงาน วิทยากร และนักเรียนค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่าย 1 วิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด นายอดุลย์ศักดิ์ บุญอเนก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด นายบุญภพ จันทมัตตุการ ผอ.โรงเรียนฯ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้การต้อนรับ

โดยรองเลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ข้อเสนอแนะตามนโยบายการจัดการเรียนรู้เชิงรุกสู่สมรรถนะผู้เรียนแก่ผู้บริหารและครูโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกสู่สมรรถนะผู้เรียนและ Best Practice ของโรงเรียนฯ รวมถึงไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนในค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่าย 1 วิชาคณิตศาสตร์ ศูนย์โอลิมปิกวิชาการโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย

จากนั้นได้รับฟังการรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการฯ และเยี่ยมชม Best Practice ของ สพม. ร้อยเอ็ด ด้านการพัฒนาศักยภาพฟุตบอลระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย โรงเรียนสตรีศึกษา โรงเรียนขัติยะวงษา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร้อยเอ็ด ณ สนามฟุตบอลโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย อีกด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายในวันนี้ สิ่งที่น่าชื่นชม คือ มีการคิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ถนัดและต้องการ ผ่านการสนับสนุนที่เข้มแข็งของครู ผู้บริหารและผู้ปกครอง รวมทั้งเครือข่าย นำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของนักเรียน จนถึงอาชีพที่ใฝ่ฝัน ด้วยความตั้งใจของครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง ชุมชน ที่สนับสนุนและช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดเพื่อให้นักเรียนทำตามความถนัดและความฝันของตนเอง ส่งผลให้นักเรียนมีผลงานเชิงประจักษ์ สามารถสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ และเข้าสู่สายอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝันในระดับอุดมศึกษา ทั้งวิชาการ กีฬาและดนตรี

รวมถึงการใช้เครือข่ายที่หลากหลายในการช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งผลจากการสอบคัดเลือกเข้าสู่ค่าย สอวน. ของโรงเรียน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ และความตั้งใจของครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาเคมีและคณิตศาสตร์ ที่มีผลงานเชิงประจักษ์อย่างเห็นได้ชัด โดยภาพรวมทางโรงเรียนสามารถขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ได้เป็นอย่างดี

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า ขอชื่นชมทักษะอื่นๆที่ทาง ผอ เขตพื้นที่การศึกษามีความมุ่งมั่น และรวมใจทำโครงการที่เป็นประโยชน์ส่งผลตรงกับนักเรียนครบทุกด้าน ทั้งในด้านกีฬา มีการส่งเสริมให้นักเรียนที่ได้เล่นกีฬาที่ตนความชอบตามความถนัด โดยได้ฝึกกับผู้ฝึกสอนมืออาชีพ เพื่อเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต เช่น ศูนย์ฝึกฟุตบอลโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรฟุตบอลมัธยมศึกษาร้อยเอ็ดยูไนเต็ด  การปลูกผัก 5 ชนิดที่บ้านทุกคน 40,000 กว่าครัวเรือน แสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้นกันภายในครอบครัวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

 

 

และที่สำคัญ คือ เรื่อง “การอ่าน” โดยมีนักเรียนได้รางวัลจากเขตพื้นที่ ระดับชั้นละ 1 คน/โรง รวมทั้งสิ้น มีเด็กยอดนักอ่าน 360 คน จากทั้งหมด 60 โรง จึงถือว่าการดำเนินการของเขตพื้นที่เน้นการตั้งเป้าหมายที่คุณภาพนักเรียนรอบด้าน

โดยสิ่งที่ขอฝากเพื่อพัฒนาเพิ่มเติม คือ ดึงการนำประวัติศาสตร์ของโรงเรียนที่มีการก่อตั้งมาอย่างยาวนาน มาเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้เกิดความภาคภูมิใจ เข้าใจในรากเหง้าและความเป็นไทย และนำสู่ความเป็นสากลในระดับโลก พร้อมทั้งเพิ่มจุดเน้นด้านศิลปะ นาฏศิลป์ และดนตรี เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มี Multi Skill ครบด้าน ครบทุกมิติ ผ่านการใช้เครือข่ายที่หลากหลาย

นอกจากนั้น ขอฝากเรื่องการส่งเสริมจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรชาติ (หลักสูตรแกนกลางฯ) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1. มาตรฐานและตัวชี้วัด 2. สมรรถนะสำคัญ และ 3. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสนับสนุนการใช้นวัตกรรมเด่นของโรงเรียน อย่างนวัตกรรมหัวโขกฝาโมเดล ซึ่งมีกระบวนการและผลลัพธ์ที่ดี สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนานักเรียนในมิติอื่น ๆ ได้ โดยการเปลี่ยนเนื้อหา (Content) ของสิ่งที่ต้องการพัฒนานักเรียน ก็จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ครบทุกด้าน และช่วยให้นักเรียนสามารถค้นพบความต้องการและความถนัดของตนเองได้

นอกจากนั้น ในส่วนของการจัดค่ายโอลิมปิกวิชาการ มีนักเรียนสอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ค่ายฯ สอวน. ค่าย 1 จำนวนมาก โดยเฉพาะในวิชาเคมีและคณิตศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนมีผลการปฏิบัติและมีตัวอย่างที่ดีในการพัฒนานักเรียนในสองวิชานี้

 

 

ดังนั้น ควรวางแนวทางต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนประสบความสำเร็จในวิชาฟิสิกส์มากขึ้น โดยต้องหาวิธีการให้ได้ว่าทำอย่างไรนักเรียนที่เก่งในวิชาคณิตศาสตร์จึงจะเก่งในวิชาฟิสิกส์ด้วย เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างวิชาและได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน  รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย อยู่ในสังกัด สพม. ร้อยเอ็ด เป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 – ม.6 มีจำนวนนักเรียน รวม 3,338 คน ครูและบุคลากร 216 คน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษที่มีความโดดเด่นทางด้านวิชาการ และมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่หลากหลาย ในด้านหลักสูตร พบว่า โรงเรียนมีการจัดโครงการพิเศษ จำนวน 4 โครงการ

ได้แก่ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีโครงการ English Program และโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (Gifted Program) ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม SMTE (Gifted Program) และโครงการห้องเรียนพิเศษภาษาศาสตร์-สังคมศาสตร์ (Gifted ภาษาศาสตร์-สังคมศาสตร์)

 

 

สำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้เข้าสู่ค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่าย 1 พบว่า มีจำนวนนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 20 คน วิชาเคมี จำนวน 21 คน วิชาชีววิทยา จำนวน 8 คน วิชาฟิสิกส์ จำนวน 3 คน วิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 12 คน วิชาดาราศาสตร์ จำนวน 6 คน

และมีนักเรียนสามารถผ่านการคัดเลือกให้เข้าสู่ค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่าย 1 วิชาภูมิศาสตร์ จำนวน 2 คน รวมนักเรียนของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมค่าย 1 สอวน. ในปีการศึกษา 2565 เป็นจำนวนทั้งหมด 72 คน

นอกจากนั้น โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยยังเป็นโรงเรียนศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่าย 1 ในวิชาคณิตศาสตร์ โดยในปีนี้มีการจัดค่ายระหว่างวันที่ 9-24 ตุลาคม 2565 มีนักเรียนที่เข้าร่วมจำนวน 35 คน เป็นนักเรียนจากโรงเรียนในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น 20 คน มหาสารคาม 3 คน และร้อยเอ็ด 12 คน

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage