อาเซียน 10 ประเทศ ร่วมปฏิญญาการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา...ลุ้นไทยไปให้ถึงฝัน

อาเซียน 10 ประเทศ ร่วมปฏิญญาการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา...ลุ้นไทยไปให้ถึงฝัน

 

แน่นอนว่า ในเดือนตุลาคม 2567 หรืออีก 2 ปี ข้างหน้า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ประกอบด้วย  1.บรูไนดารุสซาลาม  2. สหราชอาณาจักรกัมพูชา 3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย  4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  5. สหพันธรัฐมาเลเซีย  6. สหภาพหม่า  7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์  8. สาธารณรัฐสิงคโปร์  9. ราชอาณาจักรไทย  และ 10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประชุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสามและสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา และ การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน

 

สาระสำคัญ ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง  เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เข้าร่วม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีของไทยได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นั้น มีประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณตามที่ให้การรับรอง/เห็นชอบในร่างปฏิญญาอาเซียนฯ ตามที่กระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์การยูนิเซฟ ร่วมกันจัดประชุม UNICEF – ASEAN Conference on Digital Transformation of the Education System throughout ASEAN แถลงการณ์ร่วม Joint Statement Conference on Digital Transformation of the Education System throughout ASEAN ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้ดิจิทัลที่ปลอดภัย โอกาส ทักษะ ความสามารถทางดิจิทัล และพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดและต่อยอดได้  โดยประเทศสมาชิกอาเซียนต้องนำผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว

 

 

มีสาระสำคัญในร่างปฏิญญาอาเซียนฯ สรุปได้ดังนี้ 

 

1.การให้ความสำคัญ ยืนยัน ยอมรับ และระลึกถึง  วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2568 คือ ชุมชนที่มีความยืดหยุ่นพร้อมศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเปราะบางทางสังคม เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่

2.ระดับความแตกต่างของการศึกษาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบดิจิทัลในประเทศสมาชิกอาเซียน และการจัดการกับความท้าทายในด้านความเหลือมล้ำทางดิจิทัล

3.เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้กับประชากรชายขอบ และเด็กและเยาวชนตกหล่น รวมทั้งช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนและพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลด้านการศึกษา  

4.องค์ประกอบหลักของระบบการศึกษา ได้แก่ หลักสูตร การประเมิน ทรัพยากรการเรียนรู้ ทักษะของครู และการจัดการข้อมูล รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน

สิ่งที่ตกลงจะดำเนินการร่วมกัน ใน 15 ข้อ ได้แก่

1) ใช้หลักการจัดการเรียนรู้ทางดิจิทัลที่เหมาะสมและมีการประเมินผลตลอดทาง เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนโดยไม่เพิ่มภาระให้กับครู สนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิต การทำงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(2) ผู้ฝึกอบรมและนักการศึกษา (ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการศึกษา) ทุกคน ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

(3) พัฒนาและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

(4) พัฒนาและแบ่งปันพื้นที่เก็บข้อมูลทรัพยากรการเรียน การวางแผนการเรียนการสอน การประเมินผล กิจกรรมในชั้นเรียน

(5) ใช้หลักการสอนและการประเมินผลแบบดิจิทัลในการเรียนการสอน

(6) พัฒนานโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และส่งเสริมการวางแผนระดมทุนระยะยาวในโรงเรียนทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลทางการศึกษา โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มชายขอบ

(7) พัฒนาและรับรองนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบบริหารจัดการข้อมูลทั่วประเทศ (การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม) และในระดับอาเซียน

(8) ศึกษาระบบนิเวศที่เอื้อต่อความร่วมมือที่ยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงที่รับผิดชอบด้านการศึกษา การคลัง เทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน

(9) พัฒนานโยบายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล บันทึกและเข้ารหัสเพื่อคุ้มครองข้อมูล การใช้ข้อมูลการศึกษาที่โปร่งใสทั้งในระดับโรงเรียนและระดับบริหาร และทรัพย์สินทางปัญญาของทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งเสริมสร้างให้เด็กมีความรู้ในการใช้งานอย่างปลอดภัย

(10) ลดการเกิดสภาพแวดล้อมเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษา และค้นหาความเสี่ยงที่จะเกิดต่อเด็ก

(11) ส่งเสริมกลไกและนวัตกรรมใหม่

(12) ขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตผ่านโครงการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และสนับสนุนหุ้นส่วนภาคประชาสังคม

(13) จัดให้มีการเรียนรู้ดิจิทัลแบบออฟไลน์ (ออนไซต์) ในโรงเรียนที่ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

(14) พิจารณาและวางแผนงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านการศึกษาให้มีความโปร่งใส เหมาะสม และตรวจสอบได้

(15) ปรับปรุงระบบการติดตามและประเมินผลของสารสนเทศภายใต้การดำเนินงานด้านการศึกษา การสื่อสารและการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของสังคมครอบครัวและเยาวชน

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากร่างปฏิญญาอาเซียนฯ ให้ความสำคัญทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรอบกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงเครื่องมือ แพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้ฝึกอบรม นักการศึกษา นักเรียนและประชาชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ด้วยเหตุนี้ 15 ข้อ ที่รัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ได้ตกลงจะดำเนินการร่วมกัน จึงเป็นสิ่งท้าทายเพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา ที่มีการปรับตัวรวดเร็วและพัฒนาต่อเนื่องไม่มีวันหยุดนิ่ง แต่ผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีฯของแต่ละชาติ นอกจากจะเข้ามาในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ไปตามวิถีการเมือง

ทำอย่างไร จึงจะทำให้ปฏิญญาอาเซียนฯ เปลี่ยนภาพฝันของประชาชาติสมาชิก ให้เป็นความจริง

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage