ตรีนุช" ยก ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 15 ต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างทางเลือกหลากหลาย

 

ตรีนุช" ยก ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 15 ต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างทางเลือกหลากหลาย

เสมา ๑. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) จังหวัดเชียงราย และ โรงเรียนศาสตร์พระราชา(วิทยาเขตกู่เต้า) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถือเป็นต้นแบบโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อยู่ห่างไกล เด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทำให้เด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด สร้างอาชีพและมีทางเลือกในการเรียนต่อที่หลากหลาย เพราะสามารถต่อยอดได้ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ได้อย่างดี

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า โดยเฉพาะโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ไม่เพียงยังมีจุดเด่นในเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการพหุปัญญา ที่มีความหลากหลาย มีความทันสมัย ส่งเสริมเรื่องอาชีพ เท่านั้น แต่ยังร่วมกับเครือข่ายอาชีวศึกษาในพื้นที่ คือ วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง จัดการศึกษาแบบทวิศึกษา ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเป็นการจัดการศึกษาที่สนองต่อความต้องการของผู้เรียน เช่น สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ บัญชี เป็นต้น

อีกทั้ง จุดเด่นที่สำคัญของโรงเรียน อย่างหนึ่ง คือ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน การทดสอบนักเรียน จัดทำระบบข้อมูลด้านความปลอดภัยของนักเรียน รวมถึงใช้ในการยื่นวิทยฐานะของครู และการบริหารจัดการผ่านระบบ e-School Master เป็นการลดการใช้กระดาษ Paper Less สอดคล้องกับนโยบายสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อโรงเรียนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ทำให้กระบวนการจัดการศึกษามีความรวดเร็วขึ้น มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของเด็กมากขึ้น ทำให้ครูมีเวลาโฟกัสไปที่การจัดการเรียนการสอนมากขึ้นด้วย ถือเป็นการจัดการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และที่สำคัญชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน แสดงให้เห็นว่าการศึกษาเกิดได้ทุกที่ ไม่เฉพาะในรั้วโรงเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้สูงอายุเข้ามาเรียนและสร้างอาชีพได้ด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวต่ออีกว่า... โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส และเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาที่กล้าเปลี่ยนแปลงเพราะโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีความหลากหลาย เน้นให้เด็กสามารถประกอบอาชีพได้ และเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้เด็กคิดเป็น ลงมือทำจริงสามารถจับต้องอาชีพที่ตนสนใจได้โดยตรง ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะปัจจุบันทางเลือกของการศึกษามีมากขึ้น และไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป  

ทั้งนี้ ตนเองทราบว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 มีโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ จ.เชียงราย 60 กว่าแห่ง ซึ่งจะนำไปหารือกับผู้บริหารโรงเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขณะนี้ ศธ.มีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก จะสามารถขยายผลอย่างไร ให้โรงเรียนที่มีบริบทใกล้เคียงกัน นำการจัดการศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 มาปรับใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาได้ต่อไป รมว.ศึกษาธิการกล่าว

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ.ดูแลจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จะมีกลุ่มโรงเรียนเฉพาะ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษก รวมถึงโรงเรียนดังหรือ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง กลุ่มที่ 2 เด็กปกติทั่วไป จะมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามปกติ สำหรับเด็กทั่วไป และกลุ่มที่ 3 เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ มีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) ดูแลโดยมีโรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ

โดยเด็กกลุ่มที่ 3 นี้ เป็นกลุ่มที่ทาง สพฐ.ได้ให้การดูแลเป็นพิเศษ ในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ เพียงพอที่จะก้าวข้ามความด้อยโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำได้

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage