ครูอาชีวะ ขาดกว่า 1.8 หมื่นคน เร่งขออัตราเพิ่ม ชู 7 นโยบายเร่งด่วน จับมือสพฐ.ทำแผนรับ น.ร.ปี ๖๖

 

ครูอาชีวะ ขาดกว่า 1.8 หมื่นคน เร่งขออัตราเพิ่ม ชู 7 นโยบายเร่งด่วน จับมือสพฐ.ทำแผนรับ น.ร.ปี ๖๖

 

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ขับเคลื่อนอาชีวะ ชู 7 นโยบายเร่งด่วน ทวิภาคีแนวใหม่ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ สร้างภาพลักษณ์ ขยายศูนย์ความปลอดภัย ขับเคลื่อนช่วยประชาชน ปฏิรูปกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและประมง เพิ่มปริมาณผู้เรียน ต้องการครูอีกกว่า 1.8 หมื่นอัตรา เร่งหารือปัญหา พร้อมขออัตรากำลังเพิ่ม

ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 สอศ. จะขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ใน 7 นโยบายเร่งด่วน ได้แก่ 1.การยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี 2.การยกระดับโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ 3.การขับเคลื่อนโครงการทวิศึกษาแนวใหม่ 4.ขับเคลื่อนศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน 5.ขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ. 6.ปฏิรูปกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและประมง และ 7.สร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา

ในปีงบประมาณ 2566 มีการวางเป้าหมายเพิ่มปริมาณผู้เรียน 5% เน้นรับนักเรียนนักศึกษาในระบบทวิภาคีให้ได้เพิ่มอีก 30% ตลอดให้สถานศึกษาภาครัฐ เปิดรับนักเรียนนักศึกษาในสาขาที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการการศึกษาในปัจจุบัน อนาคต และความต้องการของประเทศและพื้นที่

 

 

สำหรับสถานศึกษาเอกชน สามารถรับนักเรียนนักศึกษาตามศักยภาพและความพร้อม ซึ่งจะมีสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย โดยสมาชิกสมาคมเข้าไปแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางการพัฒนาจัดการศึกษาอาชีวศึกษา บริหารจัดการด้วยกันเอง

เลขาธิการ กอศ.กล่าวถึงงาน ขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ.เป็นเรื่องที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำและให้ความสำคัญ เนื่องจากนักศึกษาอาชีวะ ร้อยละ 99 เป็นเด็กดี ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท มีส่วนน้อยมากที่เป็นปัญหา ขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศป.สอศ.) และสร้างกิจกรรมดี ๆ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์พัฒนา เกิดการรับรู้แพร่หลาย ย่อมสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษาได้ ส่วน  การปฏิรูปกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและประมง โดยตนจะเรียกประชุมผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอีกครั้ง

 

 

"...ขณะนี้ เนื่องจาก สอศ.มีนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันสอศ.มีอัตราเพียง 2 หมื่นอัตรา ยังขาดแคลนอีกถึงกว่า 1.8 หมื่นอัตรา จากการตรวจสอบกรอบอัตรากำลังแล้วต้องไม่น้อยกว่า 3 หมื่นอัตรา..." ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ตนได้หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) แล้ว ซึ่งรับปากว่าจะนำปัญหาดังกล่าวเสนอบอร์ด ก.ค.ศ. เพื่อขออัตรากำลังเพิ่ม ในเบื้องต้นจะต้องขอเป็นอัตราจ้างก่อน  และเรียนปรึกษากับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้รับคำแนะนำว่าให้ไปดูว่าติดปัญหาอะไร และต้องแก้ไขอย่างไรอาจจะต้องไปขอพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อพิจารณาช่วยปลดล็อก ซึ่งการขาดแคลนครูอาชีวะ จะเป็นอุปสรรคในการก้าวสู่ความสำเร็จเนื่องจากการอาชีวศึกษามีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างคน สร้างชาติ

 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกา ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล จังหวัดพิษณุโลก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้มอบนโยบาย ผอ.อาชีวศึกษา ผู้อำนวยสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน ในโอกาสการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ผ่านออนไลน์ นอกจากกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายถึงในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วประเทศในปีนี้ ซึ่งความช่วยเหลือ ภายใต้ "ศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน" แล้วยังกล่าวถึง การเดินหน้าหลักสูตร "ทวิศึกษา" ด้วยว่า

 

 

ตนเองได้มอบหมายให้ สอศ. ร่วมกับ สพฐ. จัดทำแผนระดับจังหวัดว่า ควรจัดทวิศึกษารายวิชาใด ในโรงเรียนไหน โดยให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงแก้ไขปัญหา และข้อจำกัดจากการดำเนินงานในอดีต เป้าหมายระยะสั้น เน้นหลักสูตรทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม ภาคเรียนที่สอง ของปีการศึกษา 2565 นี้

อีกทั้งเริ่มประสานเตรียมความพร้อม มีการตั้งเป้าหมายของแต่ละสถานศึกษาที่จะเปิดรับทั่วประเทศ เพื่อทราบจำนวนนักเรียน พร้อมให้คำแนะนำการรับ-ส่งต่อนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที 3 เข้ามาสู่สายอาชีพ ในโครงการ "อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ" ในปีการศึกษา 2566 กับทาง สพฐ. อีกด้วย น.ส.ตรีนุชกล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage