'อรรถพล' จี้ 'สกสค.-คุรุสภา' เร่งขันน็อตทุกระบบ ถก' ศธภ.-ศธจ.ทำแผนลดความซ้ำซ้อน มีตัวชี้วัด ประเมินผลชัดเจน ชง 'ตรีนุช' เพิ่มศธภ.ครบ 12 ภาค

'อรรถพล' จี้ 'สกสค.-คุรุสภา' เร่งขันน็อตทุกระบบ ถก' ศธภ.-ศธจ.ทำแผนลดความซ้ำซ้อน มีตัวชี้วัด ประเมินผลชัดเจน ชง 'ตรีนุช' เพิ่มศธภ.ครบ 12 ภาค

"...ได้เวลาขันน็อตทุกหน่วยงานในความดูแลรับผิดชอบ ของ อรรถพล สังขวาสี  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไล่เรียงเก็บรายละเอียด ตั้งแต่ สกสค.-คุรุสภา ให้เร่งปรับการบริหารงานภายในและการบริการให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ไปถึง เร่งขยับจัดทัพบิ๊กศธ. กว่า 20 อัตรา ชง ‘ตรีนุช’ เฟ้น ‘ศธภ.’ ให้ครบ 12 ตำแหน่ง ต่อไปจะต้องมีตัวชี้วัด ประเมินผลงานทั้งเชิงพื้นที่ ลั่น...อย่ารอแต่งบฯ ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว..."

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อคืนอำนาจการบริหารงานบุคคล ให้ (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ นั้น

ในเรื่องนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอให้เร่งดำเนินการจัดบทบาทหน้าที่ ของ ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ผู้ตรวจราชการ ศธ. ให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเกิดการบูรณาการเชื่อมโยงกับพื้นที่ ซึ่งต่อไปจะต้องมีตัวชี้วัด ประเมินผลงานทั้งเชิงพื้นที่และนโยบาย เพื่อให้เกิดการผลักดันงบประมาณจากพื้นที่ ที่จะเกิดการพัฒนาการศึกษาในกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่รอแต่งบประมาณส่วนกลางเพียงอย่างเดียว อีกทั้งที่ผ่านมา ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้น ศธจ. จะทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่ยังมีการทำงานทับซ้อน กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) อยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่ดูบทบาทและหน้าที่ของ ศธจ.และศธภ.อย่างรายละเอียดแล้ว ยังมีบางแห่งพบถึงปัญหา คือ เนื่องจากยังไม่มี ศธภ.ตัวจริง จึงเป็นประเด็นที่ต้องเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. พิจารณาให้เห็นภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายทั้งระบบ และ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นว่า ทำไมถึงต้องมีศธภ.ให้ครบทั้ง 12 ตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 พ.ศ.2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

แม้ที่ผ่านมา ศธ.มีการแต่งตั้ง ศธภ. แล้ว 5 อัตรา ส่วนที่เหลือก็ให้ผู้ตรวจราชการ ศธ.เข้าไปช่วยดูแล จึงทำให้การดำเนินการไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ดังนั้น นี่คือ เหตุผลว่าควรแต่งตั้ง ศธภ. ให้ครบ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยขอให้แต่ละคนดูภาระงานของตนเอง จากนั้นจะนำมาจัดทำแผนให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและปัญหาเชิงระบบ นโยบายการศึกษาสามารถขับเคลื่อนอย่างมีความเป็นรูปธรรม

อย่างเช่น ภาคใต้ ผู้ที่ดูแลจังหวัดใหญ่อย่างนครศรีธรรมราช ซึ่งควรจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย แต่มีเพียงรองศธภ.รักษาการแทน เมื่อไม่มีตัวจริง จึงทำให้การสั่งการงานบางอย่างเกิดปัญหา

“...แม้สภาฯ จะเห็นชอบ  แล้วก็ตาม แต่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับโครงสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ประมาณ 2 ปี ดังนั้น คงไม่จำเป็นต้องรอ ศธ.สามารถดำเนินการได้ทันที...”  ปลัด ศธ. กล่าว

ปลัดศธ. กล่าวถึงอีกสองหน่วยงานสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องดูแลทั่วประเทศ ต่อว่า ได้หารือกับ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ นาง อมลวรรณ วีระธรรมโน เลขาธิการคุรุสภา ขอให้เร่งปรับการบริหารงานภายในและการบริการให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ขาดการขันน็อตมานาน ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ควรต้องดำเนินการให้การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ ส่วนการสรรหา ศธภ.แทนตำแหน่งว่างและตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ กว่า 10 อัตรานั้น หลังแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มดำเนินการสรรหา ศธภ. และ จะเรียกบรรจุ ศธจ.จากที่ขึ้นบัญชีไว้ เพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการสรรหา จะต้องเคลียร์เรื่องบทบาทหน้าที่ทุกส่วนให้มีความชัดเจนก่อน

ในการทำงานนั้น ไม่หนักใจ ถือเป็นเรื่องปกติ มีหน้าที่หาคนดีคนเก่งเข้าไปทำหน้าที่ ส่วนปัญหาเรื่องการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่มีปัญหาฟ้องร้องอยู่นั้น พอจะทราบปัญหามาบ้าง และคิดว่า คณะกรรมการสรรหาชุดเดิม พยายามวางมาตรการการคัดเลือกไว้ค่อนข้างเข้มแข็ง หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็คิดว่าสามารถชี้แจงได้

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage