สุรินทร์' ประกาศ...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ร่วม กสศ. ยกระดับปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

สุรินทร์ประกาศ...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ร่วม กสศ. ยกระดับปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

จังหวัดสุรินทร์ ประกาศ 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' จับมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ ยกระดับกลไกพื้นที่ ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา สานพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานทั้งในและนอกจังหวัด เชิญ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคม เอกชน ประชาชนคนทั้งจังหวัด ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพ

นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทุกคนต่างทราบดีว่าความยากจนเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมเสมอภาค เป็นประเด็นปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากประเทศ  แม้จะมีความพยายามในการทำงานเพื่อลดช่องว่างเหล่านี้  

จากการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทำให้เราพบว่า มิติเรื่องสุขภาพหรือระดับการศึกษาในครอบครัว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงโอกาสได้ยากขึ้น

เนื่องจากยังพบครอบครัวที่มีคนมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณในการดูแล รวมถึงครอบครัวของเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ส่วนใหญ่มักมีผู้ปกครองระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินชั้นประถมศึกษา โดยแม้จะมีกฎหมายระบุว่า เด็กต้องได้รับการศึกษาจนจบภาคบังคับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวมา กลับผลักให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องทำงานก่อนวัยอันควร มีชีวิตวนเวียนอยู่เพียงเป็นแรงงานขาดทักษะ หรืออพยพย้ายถิ่นเพื่อหารายได้ไปเรื่อย ๆ

และถ้ามีการสร้างครอบครัวใหม่ เด็ก ๆ ที่เกิดจากครอบเหล่านี้ ก็จะอยู่ในวงจรส่งผ่านความยากจนด้อยโอกาสจากคนรุ่นพ่อแม่ต่อไปไม่สิ้นสุด สิ่งที่เด็กทุกคนต้องการคือโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง

ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้มาตรฐานการศึกษาโรงเรียนห่างไกล มีความเสมอภาค มีมาตรฐานเพียงพอ

คำตอบของคำถามนี้ คือ ความร่วมมือของทุกคน ที่จะต้องช่วยกันสร้างคุณภาพการศึกษาให้เด็ก ๆ จากหมู่บ้านหรือตำบลห่างไกล ได้มีโอกาสต่อยอดชีวิตเช่นเดียวกับเด็กในพื้นที่อื่น

ไม่เพียงเท่านั้นเราต้องมองไปที่เด็ก เยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา ว่า จะทำอย่างไรให้เขาได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะเด็กทุกคนมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง

วันนี้ พวกเราจึงต้องมาช่วยกันมองว่า จะทำอย่างไรให้เด็กกลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ ไม่ว่าในระบบ นอกระบบ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตได้"

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ทุกคนทุกหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันวันนี้ เพื่อปิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย ด้วยพลังของทุกภาคส่วน ขอฝากคความหวังไว้ที่ทุกท่านว่า ลูกหลานชาวสุรินทร์ของเราทุกคน จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค และไม่มีใครหลุดไปจากระบบการศึกษาอีก

ขณะเดียวกัน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวแจงว่า  กสศ. มีภารกิจทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งไปยังกลุ่มยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ โดยการทำงานร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ แบ่งเป็น ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ 

๑.ทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ๒.พัฒนาคุณภาพการศึกษา ๓.สร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม และ ๔.สนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพื่อให้ระบบดำเนินต่อเนื่องในระยะยาว 

“...ทุกโครงการที่ กสศ. ทำร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ เป็นการดูแลคนทุกรุ่นทุกช่วงวัย โดยทุกโครงการได้ทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ คือ ความต่อเนื่อง โดยอาศัยการบูรณาการงานเชิงพื้นที่ เพื่อให้คนสุรินทร์นำเครื่องมือ และเครือข่ายเหล่านี้ไปต่อยอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดึงทรัพยากรมากระจายไปให้ถึงทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ด้วยคน และเครือข่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด..." นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam       

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage