มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดเสวนาครูอาชีวะ "การศึกษาเปลี่ยนชีวิต"

 จัดให้มีการเสวนาออนไลน์สัญจร เรื่อง การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ของครูในเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และครูในพื้นที่ต่างๆเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยจัดขึ้นที่ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ตระหนักถึงความสำคัญของครูผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และการจัดการศึกษา จึงได้จัดให้มีเวทีเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ขึ้น ซี่งนับเป็นครั้งที่ 6 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการจัดเวทีเสวนา และส่งครูที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิฯ เข้าร่วมเสวนา จำนวน 4 คน ได้แก่ ครูเกษมสุข ชัยชิตาธร วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา ครูขวัญศิษย์ ปี 2562  "ครูซ่อมคน ครูผู้สร้างนวัตกรรมไม่หยุดนิ่งต่อความเปลี่ยนแปลง" ครูสิทธิศักดิ์  อาจหาญ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ครูขวัญศิษย์ ปี 2564  "ครูผู้ผสมผสานองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้ศิษย์มีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน" ครูวารุณี เอี่ยมอารมณ์ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ครูขวัญศิษย์ ปี 2564 "ครูผู้สร้างโอกาส สร้างอนาคต สร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์ด้วยวิชาการบัญชี" และ ครูปิติกร ขำอ่อน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ครูยิ่งคุณ ปี 2562 "ครูผู้ส่งเสริมให้ศิษย์ มีความเชื่อมั่น เห็นคุณค่าในตัวเอง นำศิษย์เข้าสู่นวัตกรรมสมัยใหม"

 

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า  กล่าวว่า ประเด็นการเสวนาประกอบไปด้วย 4 หัวข้อได้แก่อาชีวศึกษากับการให้โอกาสและการสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษากับการเชื่อมโยงท้องถิ่น สร้างสังคมและสร้างงาน อาชีวศึกษากับก้าวใหม่ที่ทันโลก ด้วย วิทยาการทันสมัยและนวัตกรรมและการเตรียมตัวเข้าสู่โลกอาชีวศึกษา ผู้เรียนต้องมีคุณลักษณะอย่างไร

         

      ผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  กล่าวอีกว่า เสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้นำเข้าสู่เวทีเสวนาโดยเปิดประเด็นด้านการศึกษาอย่างชัดเจนว่า "การพัฒนาประเทศชาติและกำลังคนให้เจริญก้าวหน้าได้นั้น การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต  โดยเฉพาะการศึกษาที่สร้างงาน สร้างอาชีพในรูปแบบของอาชีวศึกษา จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของปัจจัย 4 การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและนำชีวิตให้หลุดพ้นจากวงจรที่ไม่พึงประสงค์ การศึกษาจะสร้างคนคุณภาพจากชุมชนไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น จนถึงสังคมโลก ครูจึงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันให้การศึกษามีมาตรฐานและคุณภาพที่จะนำพาชีวิตคนไปสู้เป้าหมายที่ต้องการ"

         

       ดร.เบญจลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการเสวนาเป็นที่น่าภาคภูมิใจ และสร้างความพึงพอใจ ให้กับผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเพราะการเสวนาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการศึกษาจะสร้างความหวังและอนาคตที่ดีใหักับเยาวชน และผู้เรียน โดยเฉพาะการเรียนอาชีวศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต  มีทักษะอาชีพที่มั่นคงสามารถที่จะมีอาชีพได้มากกว่า 1 อาชีพ เพราะการอาชีวศึกษาเน้นการเรียนในภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดคุณภาพในฝีมือ มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนการสอนให้เข้ากับโลกอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลที่ได้ออกมาก็คือคุณภาพของคนที่ออกไปประกอบอาชีพ

“ ...คุณภาพของสังคมที่ดีขึ้นเพราะคนมีงานทำและจะนำไปสู่คุณภาพของประเทศชาติในที่สุด ส่วนอาชีพที่เป็นที่ต้องการในขณะนี้และอนาคต มีมากมายที่ยังขาดแคลนบุคลากรร่วมงาน ทั้งด้านเกษตรกรรม smart farm ที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ด้านบริหารธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการบัญชีการตลาดคอมพิวเตอร์และอาชีพที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น หุ่นยนต์ แมคคาทรอนิกส์ เรื่องของระบบ AI เรื่องแหล่งอาหารคุณภาพ งานศิลปะต่างๆ ครูอาชีวะที่มาร่วมเสวนาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาชีวศึกษาได้จัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนอาชีวะได้เข้าไปใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยในสถานประกอบการ  รวมทั้งมีครูจากสถานประกอบการมาให้ความรู้เพิ่มเติมในแต่ละสาขาวิชา และที่อยากจะเพิ่มเติมคือครูที่ได้รับรางวัลของมูลนิธิฯ ต้องการสื่อสารให้ครูอาชีวศึกษาทุกคน  เรียนรู้ที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในใจของลูกศิษย์ ร่วมกันสอน 'วิชาที่ใช่'  วิชาที่นำไปใช้ในอาชีพได้จริง เพื่อให้อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกแรกในการศึกษา ทำให้ผู้เรียนได้มีงาน มีอาชีพ เป็นคนพร้อมใช้ในโลกอาชีพอย่างแท้จริง...” ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กล่าวสรุป