ปลุกพลังอาชีวะ ยกระดับสู่การเป็นวิทยาลัยต้นแบบ ป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ ลุยผลักดันขยายเครือข่ายทั่วประเทศ

 

ปลุกพลังอาชีวะ แกนนำป้องกันปัจจัยเสี่ยงเปลี่ยนสังคม!  สสส. ผนึก สอศ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน  เปิดเวทีถอดบทเรียนทำงานนำร่อง 25 สถาบันอาชีวะ ยกระพัฒนาสู่การเป็นวิทยาลัยต้นแบบป้องกันมหันตภัย” เหล้า บุหรี่” 2 ปัจจัยเสี่ยง รุกคืบในสถานศึกษา พร้อมลุยผลักดันทำงานขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ (สอศ.) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเวทีสรุปผลงานการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา โดยมีวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการกว่า 25 แห่ง

 


 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ร่วมหารือกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  พิจารณาวิทยาลัยในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติและพัฒนากลไก  ลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวกในการส่งเสริมสุขภาวะ และช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา

 


 

 ขณะนี้โครงการฯ ได้สนับสนุนวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 25 แห่ง ในการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดบทเรียน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และพัฒนาสู่การเป็นวิทยาลัยต้นแบบป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา  และท้ายที่จะสุดจะนำไปซึ่งการตระหนักในการป้องกันตนเอง ในพิษภัยของอบายมุขเหล่านั้นในการดำรงชีวิต และเป็นพลังที่สร้างสรรค์ในสังคมต่อไป ขณะเดียวกันเรามีความมุ่งหวัง ในฐานะสถานศึกษาต้นแบบ ป้องกันปัจจัยเสี่ยง จะได้ทำงานเป็นภาคีเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา จับมือกันทำงานร่วมกันเพื่อให้เยาวชนของเราปลอดจากเหล้า บุหรี่ ต่อไป” เรืออากาศโท สมพร ระบุ

 

ด้าน น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า นับได้ว่ากิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายฯ ซึ่งเราได้ดำเนินร่วมกับพันธมิตร ทั้ง สอศ. และภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์หยุดการพนัน ภายใต้ความร่วมมือ ร่วมใจกันจนกิจกรรมสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งเราจะไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงนี้ แต่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการสรุปบทเรียน  จากก้าวแรกสู่ก้าวต่อไปเครือข่ายอาชีวะลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อถอดบทเรียนหัวใจของการทำงาน ผลักดันการการทำงานไปยังแหล่งสถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศต่อไป ขณะเดียวกันก็ยังเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษา ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ และช่วยเหลือกลุ่มนักเรียน กลุ่มเสี่ยงต่างในสถานศึกษาทั่วประเทศต่อไป

 


 

 สสส. ได้ดำเนินการขยายแนวร่วมในการทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ ที่เป็นต้นเหตุต่อเนื่องไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านการพนันมาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ การช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาในการดำเนินกิจกรรม มีครู นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกแผนกวิชาเข้าร่วมฝึกฝนทักษะ จนเกิดเป็นแกนนำครู นักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยง ส่งผลหลายด้าน ต่อนักเรียน นักศึกษา นำไปสู่ ผลการเรียนดีขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ” น.ส.รุ่งอรุณ ระบุ

 

 

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวด้วยว่า  จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทยปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ12.7 ซึ่งลดลงจากปี 2560 (ร้อยละ15.4)  ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ร้อยละ 20.9 ก็ลดลงเช่นกัน แต่จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบ 78,742 คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยมีสัดส่วนเป็นเยาวชน 15-24 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 30.5) ซึ่งกลุ่มเยาวชนควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ

 

 ส่วนสถานการณ์พนันประจำปี 2562 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 98.9 เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนัน โดยมีเยาวชนที่อายุ 15-25 ปี เล่นการพนันจำนวน 4.3 ล้านคน และมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหาอยู่ 6 แสนคน จึงควรมีการสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง” น.ส.รุ่งอรุณ ระบุ