สอศ.ขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสเป็น 30 สถานศึกษา ทั่วประเทศ

สืบเนื่องจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเสมอภาคในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่ขาดโอกาสตามนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้เสนอขอขยายผลการดำเนินงานโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการขยายผลโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส จากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานำร่อง จำนวน 12 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการต่อเนื่อง 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2575

สำหรับวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทั้ง 30 แห่ง มีดังนี้ 1. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 3. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จ.เพชรบุรี 4. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 5. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี 6.วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย7.วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร 9. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10.วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จ.น่าน 11. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จ.ปัตตานี 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว 13.วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 14.วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จ.ลำปาง 15.วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน 16.วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 17 วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ 18.วิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 19. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร จ.ยโสธร 20.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 21.วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู 22.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จ.อุดรธานี 23.วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม 24.วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 25.วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จ.ลพบุรี  26.วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จ.นนทบุรี 27.วิทยาลัยการอาชีพหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 28. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จ.ชุมพร 29.วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า จ.พังงา และ 30.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จ.ระนอง

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู Hands On โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส รุ่นที่ 1 - 4 ร่วมกับสถานศึกษาทั้ง 4 แห่ง ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จังหวัดตาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จังหวัดพิจิตร วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เพื่อพัฒนาครู Hands On จำนวน 160 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดนี้กลับไปเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงานโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ในสถานศึกษาทั้ง30 แห่ง ให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐานของโรงเรียนพระดาบสที่กำหนด

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู Hands On โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส มีทั้งหมดจำนวน 4 รุ่น มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่สมัครใจเป็นดาบสอาสา รวมจำนวน 160 คน จากสถานศึกษาในโครงการฯ จำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ โดยการฝึกอบรมฯ เป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับครูผู้สอน เน้นวินัยและคุณธรรมควบคู่กับการฝึกทักษะอาชีพ ตามแนวทางการพัฒนาครู Hands On และปลูกฝังจิตวิญญาณของความเป็นครูด้วยกิจกรรมจิตตปัญญา ตลอดจนเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และขยายผลในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนสู่การประกอบอาชีพได้ รวมทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

โดยการจัดอบรมฯ ดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม รุ่นละ 15 วัน ตั้งแต่เวลา 05.00 น. -  21.30 น. ทุกวันเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมฯ มีคุณสมบัติของครูผู้สอนเป็นไปตามแนวทางของโรงเรียนพระดาบส นอกจากนี้ ในโครงการฯ ยังได้เน้นการดำเนินกิจกรรม บ้านสร้างอาชีพ เลขที่ 910" ที่เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ สามารถมองเห็นถึงการเชื่อมโยงการฝึกทักษะอาชีพสู่การประกอบอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมในบ้านสร้างอาชีพไปใช้เป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพได้ ถือเป็นจุดเด่น จุดหนึ่งของโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้คิดขึ้นและสามารถเป็นกลไกส่งเสริมการประกอบอาชีพได้จริงของผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว

รวมทั้งสามารถเป็นสถานที่ใช้ฝึกภาคปฏิบัติด้านการประกอบอาชีพได้จริง ที่ทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและจับต้องได้ และเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนของผู้เรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดทำ บ้านสร้างอาชีพ เลขที่ 910” ขึ้น ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกแห่ง เพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณ ภายใต้การนำของนายชุมพล เด็จดวง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ นางสาวศิรินทิพย์ ธนวิจิตรพันธ์ ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1 และคณะ ได้ให้ความสำคัญกับ โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสเป็นอย่างมาก โดยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการฯ และตรวจเยี่ยมกิจกรรมการจัดอบรมพัฒนาครู Hands On ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินการอยู่ ณ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร และวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง ระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักงบประมาณมีความชื่นชมและพึงพอใจในผลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นอย่างมากที่ได้ดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสที่เห็นผลการดำเนินการออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งได้ผลิตครู Hands On ซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่และเป็นกำลังหลักที่สำคัญให้แก่โครงการฯ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเห็นว่าการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและด้านการจัดการเรียนรู้ด้านการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ฯ สอศ./ 2 ธันวาคม  2565