Technology Disruption กับครูในยุคดิจิทัล

Technology Disruption กับครูในยุคดิจิทัล

EdunewsSiam : บทความ  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมมิกา วชิระวินท์

โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สุพรรณบุรี

 

ครูคือผู้เรียนไม่รู้จบ” คำกล่าวนี้คงจะไม่เกินจริง เนื่องจาก ครูเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาตามพลวัตของความรู้ ความสามารถและทักษะของผู้เรียน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคของ “Technology Disruption” ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้ครูต้องปรับตัวตามโลกและผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหากครูยังยึดถือตำราหรือวิธีการเก่า ๆ ย่อมทำให้สื่อสารกับผู้เรียนในยุคปัจจุบันได้ยาก เนื่องจากผู้เรียนปัจจุบันเป็นผู้พูดภาษาดิจิทัล (Digital natives)

 

 

 

ดังนั้น ครูในยุคนี้ ก็จำเป็นจะต้องพูดภาษาดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากครู คือ นักสื่อสารและนักพัฒนา ที่เป็นความหวังของสังคมในการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งในโลกอนาคต สิ่งที่ครูสามารถมอบให้กับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ แต่เป็นการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมคนให้พร้อมกับการรับมือในเรื่องใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป

 

“Technology Disruption” ทำให้โลกปัจจุบันแตกต่างไปจากโลกอดีตอย่างมหาศาล

 

บางสิ่งที่เคยทันสมัยในอดีต ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบันอีกต่อไป เนื่องมีสิ่งใหม่มาทดแทนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากมาย การเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption นั้น ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลากหลาย

แต่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป แต่ครูยังคงต้องเป็นคนสำคัญ ที่จะพัฒนาผู้เรียนตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

 

ครูที่ดีนั้น เขาจะรู้วิธีที่จะสอนเด็กที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร ให้เรียนรู้ได้อย่างดีที่สุด และเทคโนโลยีนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ครูแตกต่างและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ได้  โดยครูที่สอนดีและมีความสามารถด้านเทคโนโลยี จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง สอนเด็กได้จำนวนมากขึ้น หรือแม้แต่สามารถประหยัดทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลจากการนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน

 

โดยเฉพาะการเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีเทคโนโลยีมากมายอยู่รอบ ๆ ตัว ดังนั้น ครูในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรียนการสอน

 

 

ในบริบทของประเทศไทยนั้น เราจะเห็นได้ว่า ได้มีการให้ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้เข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต สื่อและวัสดุอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงนโยบายการศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

 

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาทางการศึกษาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนออนไลน์

นอกจากนี้ ในส่วนของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้กำหนดรายวิชาใหม่ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านทักษะดิจิทัลให้กับผู้เรียน ได้แก่ รายวิชาวิทยาการคำนวณ โดยเริ่มเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561

 

 

cr. Pinterest 

วิทยาการคำนวณ คือ อะไร

 

วิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาใหม่ที่แตกต่างจากวิชาคอมพิวเตอร์เดิมที่สอนให้นักเรียนเป็นผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้งาน (User)

 

แต่วิทยาการคำนวณ มีความแตกต่างที่เน้นการสอนให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สามารถนำองค์ความรู้และกระบวนการคิดแบบนักคอมพิวเตอร์หรือการคิดเชิงคำนวณ ไปสู่การเป็นผู้คิด ผู้เขียนที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยความที่เป็นวิชาใหม่ซึ่งมีความยากและความท้าทายและความพร้อมของครูที่จะเป็นผู้สอนในรายวิชานี้

 

ซึ่งจากการวิจัย เรื่องการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ รายวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (เอมมิกา วชิระวินท์ และ สินชัยจันทร์เสม, 2563) พบว่า...

  

Photo: โรงเรียนอนุบาลเทศบาลนครภูเก็ต 

โรงเรียนมีความต้องการสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ซึ่งประกอบด้วยสื่อการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับ Coding หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ช่วยเป็นเครื่องมือให้ครูสามารถนำไปสอนนักเรียนได้อย่างเหมาะสมและนักเรียนสามารถทบทวนเนื้อหาได้ด้วยตนเอง

 

จากงานวิจัยดังกล่าวเห็นได้ว่าในปัจจุบันนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่อนาคตที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป ดังนี้

 

ครูจึงเป็นคนสำคัญที่จะช่วยพัฒนานักเรียนเหล่านี้ให้บรรลุเป้าหมาย เทคโนโลยีดิจิทัลสำคัญกับครูอย่างไร เทคโนโลยีกับครูเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน เนื่องจากครูจะต้องใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการสื่อสารกับผู้เรียน เพื่อนำเสนอเนื้อหา จัดกิจกรรมการเรียนการสอน วัดและประเมินผลการเรียนรู้ และกระตุ้นในเกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม โดยครูจะต้องเรียนรู้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องการออกแบบการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลที่เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ร่วมกันออนไลน์ (Online Collaborative Learning)

 

ทฤษฎีการเชื่อมโยงและเรียนแบบเครือข่าย (Connectivism & Networked Learning) และทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) รวมถึงนวัตกรรมการเรียนรู้ยุคใหม่ เช่น ห้องเรียน 4.0 ห้องเรียนกลับทาง (Flipped classroom) การเรียนการสอนออนไลน์ (Online learning) และรูปแบบการบูรณาการเทคโนโลยีกับการสอนต่าง ๆ เช่น SAMR, TPACK และ The T3 Framework เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะและความสามารถของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

 

เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับครูไม่ใช่สิ่งที่ครูควรรู้ แต่เป็นสิ่งที่ครูต้องรู้เพื่อสามารถเท่าทันผู้เรียนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยหากมองในฐานะผู้ใช้งาน ครูสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้หลากหลายและช่วยกระตุ้นความสนใจผู้เรียนได้ดี เช่น การนำมาใช้ในด้านการวัดและประเมินผล

  

Photo: โรงเรียนอนุบาลเทศบาลนครภูเก็ต 

ได้แก่ เกมและแบบทดสอบต่าง ๆ เช่นโปรแกรม Kahoot Quizziz Plicker liveworksheets, Wordwall การนำมาใช้ในการจัดการชั้นเรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันออนไลน์ ได้แก่ Google classroom, Padlet, Conceptboard, Classroom screen

 

และหากมองในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมครูควรต้องมีความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างง่าย เช่น การสร้าง eLearning, eBook, Website และ มัลติมีเดียต่าง ๆ รวมถึงทักษะการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย เพื่อสามารถนำไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางการศึกษาต่อไป โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับครู (เอมมิกา วชิระวินท์, 2563)

 

cr. Pinterest

 

การเป็นครูในยุค Technology Disruption ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากครูจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่และปรับตัวในทุกๆวัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เนื่องจากนวัตกรรมต่าง ๆ นั้นอยู่รอบ ๆ ตัวเรา และเทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ยังมีความรู้ ความสามารถ และทักษะใหม่ ๆ อีกมากมายรอคอยให้ครูเรียนรู้ พัฒนาตนเองและพัฒนาเยาวชนของชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในโลกอนาคต ดังคำที่ว่า

 ครูคือผู้เรียนไม่รู้จบ”

Photo: โรงเรียนอนุบาลเทศบาลนครภูเก็ต

cr. Pinterest

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

 

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage