ปลัดศธ.เตรียมลุย'จัดกำลังพล 'ศธจ.-ศธภ.'ต้นปีใหม่ '66 - ฟื้นศูนย์กศน.ต่างแดน - เดินหน้าทำกม. หวั่นการเมืองทำร่างการศึกษาฯ สะดุด

ปลัดศธ.เตรียมลุย'จัดกำลังพล 'ศธจ.-ศธภ.'ต้นปีใหม่'66 - ฟื้นศูนย์กศน.ต่างแดน - เดินหน้าทำกม. หวั่นการเมืองทำร่างการศึกษาฯ สะดุด

 

ปลัดศธ.เตรียมขยับปรับอัตรากำลังและบทบาท 'ศธจ.-ศธภ.' ครั้งใหญ่ ต้นปี '66 ตามแผนยุทธศาสตร์ ชี้ การศึกษาในยุคโลกผันผวน ให้ส่วนกลางไปกำหนดทุกอย่าง เป็นเรื่องยาก ติง'ศึกษานิเทศก์ยังไม่สอดคล้องกับการศึกษาเอกชน เตรียมจะฟื้นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของ กศน.ที่มีอยู่ในต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย ส่วน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะผ่านหรือไม่ การเมืองตัวแปรสำคัญ

 

รายงานจากผู้สื่อข่าว : นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนมกราคม 2566 นี้ สำนักงานปลัดศธ มีเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการวางแผนขับเคลื่อนงานในส่วนของศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ใหม่หลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้แยกการบริหารงานบุคคลออกจาก กศจ.ไปอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษาในรูปแบบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ โดยเฉพาะการเกลี่ยคน ปรับบทบาทหน้าที่ภาระงานแต่ละหน่วยงานให้เหมาะสม ที่สำคัญ  คือ รอความชัดเจนของกฎหมาย และ ต้องตอบโจทย์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ได้ว่า ขณะนี้ ศธจ.มีบทบาทหน้าที่ใดบ้างที่ไม่ซ้ำซ้อนกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

 

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนการเดินหน้าสรรหาศึกษาธิการภาค (ศธภ.) แทนตำแหน่งว่างนั้น คิดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากบุคลากรด้านงานบุคคลของ กศจ.มีอยู่จำนวนเยอะมาก ซึ่งจะต้องมาจัดเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรใหม่ เพื่อไปทำงานเชิงนโยบายในแต่ละพื้นที่ เพราะมีงบประมาณและอัตราที่กำหนดไว้แล้ว ตามแผนยุทธศาสตร์ ในการร่วมกันขับเคลื่อนงานในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของระดับจังหวัดต่อไป เนื่องจากการศึกษาในยุคโลกผันผวนต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การให้ส่วนกลางไปกำหนดทุกอย่าง เป็นเรื่องยาก ดังนั้น บทบาทของ ศธจ. และ ศธภ. ก็จะเหมือนการบูรณาการเชิงพื้นที่ที่จะต้องเชื่อมโยงกัน

 

รวมถึงกลุ่มศึกษานิเทศ ใน กศจ.จะจัดทัพใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีการอบรมเติมทักษะความรู้ด้านการนิเทศให้ตอบโจทย์ต่อการนิเทศติดตามงานของโรงเรียนเอกชน เพราะที่ผ่านมาการทำงานของศึกษานิเทศก์ยังไม่สอดคล้องกับการศึกษาเอกชนเท่าที่ควร

 

กล่าวอีกว่า ส่วนงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ขณะนี้รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ...ในวาระ 2 และ 3 แล้ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต  มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งหมดรวม 13 ฉบับ เพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดความต่อเนื่อง

 

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ดูกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมคนทุกช่วยวัย ทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานจัดทำกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อไป

 

ขณะเดียวกันยังเตรียมฟื้นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของ กศน. ที่มีอยู่ในต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย เดิมมีจำนวนถึง 146 ศูนย์  เนื่องจากศูนย์ดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การเรียนคนไทย ในต่างแดนที่มรลูกหลานคนไทยได้เข้ามารับการฝึกอบรมด้านอาชีพ ภาษา และต่อยอดการเรียนอย่างมาก แต่ขณะนี้เหลือเพียง 42 ศูนย์ ให้กลับมามีบทบาทและเป็นประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งคนไทยในต่างแดนเรียกร้องให้มีศูนย์ กศน.ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง  

 

“ส่วน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสมัยนี้ หรือไม่นั้น ตัวแปรสำคัญ คือ การเมืองหากไม่ผ่าน ก็ต้องรอสมัยรัฐบาลหน้า แต่ในส่วนของ ศธ. ก็ต้องเดินหน้าจัดทำกฎหมาย” นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้ายให้คิด

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

 ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage