เสวนากับบรรณาธิการ “สภาอับปาง” : วุฒิภาวะ ความน่าละอาย สามัญสำนึก ผู้แทนปวง ชนชาวไทย

 11 มกราคม 2566

“สภาอับปาง” : วุฒิภาวะ ความน่าละอาย สามัญสำนึก ผู้แทนปวงชนชาวไทย

 

บันทึกกันไว้ตรงนี้ ณ วันที่ 11 มกราคม 2566 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่มี  110 มาตรา  ต่อเนื่องจากวันที่ 10 มกราคม 2566 เข้าสู่วันที่สอง ซึ่งปรากฎว่าวันแรก พิจารณาได้เพียง 7 มาตรา โดยในมาตรา 6 มีการแก้ไขมีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และผู้แปรญัตติขอสงวนคําแปรญัตติ

 

สุดท้ายกว่าจะลงมติแต่ละมาตรา  ต้องรอสมาชิกครบองค์ประชุมในช่วงบ่าย แต่ต้องรออยู่เกือบ 30 นาที จึงสามารถลงมติผ่านไปได้

 

พอเข้าสู่ การพิจารณาต่อเนื่องวันที่สอง 11 มกราคม 2566 ช่วงการลงมติในมาตรา 8 ( 1 ) ซึ่งเป็นมาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ เกี่ยวกับสมรรถนะผู้เรียนช่วงแรกเกิดจนครบหนึ่งปี ปรากฎว่า เกิดข้อถกเถียงการแสดงผลจำนวนผู้ลงมติ ซึ่งสมาชิกฯ ยืนยันว่า องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้ต้องปิดองค์ประชุม ในเวลา 12.50 น. หลังเพิ่งอภิปรายได้เพียง 2 มาตรา เท่านั้น

 

เนื้อหาในการประชุมรัฐสภา มีการให้ความเห็นในทำนอง หากกฎหมายฉบับนี้ ครูทั้งประเทศไม่พอใจ เพราะไม่มองเห็นความสำคัญของครูและเด็กเลย แม้แต่ฝ่ายที่เขียนกฎหมายก็ไม่อยากให้ผ่าน และประชาชนจับตาดูอยู่

 

อีกทั้ง สส.พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า...ถ้าให้มาตรานี้ผ่าน มาตราอื่น ๆ จะมีปัญหาตามมาอีก หากยังดื้อดึงเดินหน้าต่อ กฎหมายอาจเป็นโมฆะ  ไม่เช่นนั้นปัญหาจะบานปลายไปเรื่อย ๆ ถ้าเปิดประชุมต่อถือว่าประธานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้ปิดประชุม

 

บ้างกล่าวเสริมถึงการลงมติร่างพ.ร.บ.ศึกษาแห่งชาติ ไม่อยากให้ถูกใช้เป็นเกมการเมือง ขอให้วางตัวเป็นกลาง และอย่าให้เป็นตราบาป เรื่ององค์ประชุมไม่ครบ จะตอบสังคมไม่ได้ การทำงานทางการเมืองที่ใกล้จะเลือกตั้ง ประชาชนจะไว้ใจสมาชิกรัฐสภาได้อย่างไร

 

ซึ่งในมุมมองของชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ พอจะรู้การเมืองจากสื่อที่รายงานถีงสาเหตุที่สภาล่ม ที่มีความแตกต่างออกมาทำนองเดียวกันว่า...

 

 

“สภาล่มหรือสภาอับปาง” คือ จำนวน ส.ส. ที่มีตำแหน่งอยู่ หรือ ทั้ง ส.ส. และ ส.วประชุมสภาไม่ครบถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 

 

การที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ≠ โดดประชุม ≠ เป็นแท็กติกฝ่ายค้านกดดันฝ่ายรัฐบาล หรือเป็นความบกพร่องบนความตั้งใจของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ผู้ที่มาจากการคัดเลือกของฝ่ายรัฐบาลเอง

 

การที่ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมสภาจำนวนมาก คือ ความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลที่จะใช้เหตุสภาล่ม เป็นหนทางสู่การยุบสภา 

 

หรือฝ่ายรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมาก ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมไว้ได้ ในขณะที่ฝ่ายค้านเมื่อเห็นฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุม ก็ใช้เกมไม่เสียบบัตรแสดงตนเพื่อกดดันรัฐบาล

 

ผลจากสภาล่มบ่อย จะทำให้กฎหมายไม่อาจไปต่อได้ สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพรัฐบาล การคุมเสียงในสภาก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และฝ่ายค้านก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการโจมตีฝ่ายรัฐบาลได้ แต่ที่แน่ ๆ ประชาชนเสียประโยชน์

 

ยิ่งสภาล่มบ่อย ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายหรือมติต่าง ๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า จนไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญที่เสนอโดยรัฐบาลได้ ก็จะเป็นการกดดันทางอ้อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในฝ่ายบริหารหรืออาจจะถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภา ก็ได้เช่นกัน

 

ที่สำคัญ คือ หากมีการอภิปรายร่างกฎหมายและเมื่อถึงเวลาแสดงตนเพื่อลงมติแล้ว ส.ส.แสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะต้องยกยอดการลงมติไปในการประชุมครั้งต่อไป รวมถึงลำดับของร่างกฎหมายที่จะได้พิจารณาต่อก็ต้องช้าตามกันไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้การที่สภาล่ม ก็ไม่ได้หมายความว่า ร่างกฎหมายจะตกไปโดยปริยาย เพียงแต่จะต้องลงมติในการประชุมครั้งต่อไปเท่านั้น

 

ลองค้นสถิติที่มีการจดบันทึก การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมรัฐสภา “สภาอับปาง” นับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 " รวมกันถึง 15 ครั้ง ภายใน 3 ปี ในสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา  ไว้ดังนี้

 

และตั้งแต่เปิดปี 2565 ปรากฏการณ์สภาล่มมีถี่ขึ้นในช่วงต้นปี พบว่าภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษ ๆ สภาล่มไปแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก ในวันที่ 19 มกราคม 565 สองครั้ง ต่อมาเกิดขึ้นในวันที่ 2 และ 4 กุมภาพันธ์ 2565

 

มองย้อนไปการประชุม ครั้งที่ 8 วันที่ 17 กันยายน 2564 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ปรากฎองค์ประชุมไม่ครบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุคที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

 

แต่หลัง ประธานรัฐสภา ได้ ‘กดออด’ สัญญาณเรียกสมาชิลงมติ ถึง 3 ครั้ง แต่สมาชิกในห้องประชุมบางตา

 

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้เสนอให้พักการประชุม 30 นาทีแล้วค่อยมาลงมติ แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านท้วงติงว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายสำคัญเทียบเคียงกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปสำคัญของรัฐบาล หากต้องเลื่อนออกไปอีก 2 เดือน

 

ถือว่า รัฐสภาไม่รับผิดชอบกับประชาชน ต่อมาเมื่อนับองค์ประชุม ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาแสดงตนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ประธานรัฐสภาจึงไม่ได้ให้ลงมติ และปิดสมัยประชุมรัฐสภา

 

ดังนั้น...เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... และสภาอับปาง แสดงให้เห็นถึงบรรดา สส.รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยที่ไร้วุฒิภาวะ ไร้ความละอาย ไร้สามัญสำนึก ในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา และ ไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยรวม.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage