“สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์” เทรนด์สุขภาพปี 66 สสส.เข้าใจผู้สูงวัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare สำนักข่าว Edunewssiam

 

 

หลังจากที่ สสส. อัปเดตเทรนด์สุขภาพปี 2566 เป็นที่เรียบร้อยและทำให้สังคมตื่นตัวในการหาความรู้และดูแลตัวเองไปแล้วนั้น หนึ่งในเจ็ดประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากคือผู้สูงอายุเพราะในปี 2566 นี้เอง ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย และอีก 5 ปีนับจากนี้ พยากรณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุติดเตียงกว่า 2 แสนคน ติดบ้านอีกกว่า 3.5 แสนคน และในประเทศไทยพบว่าวัยเกษียณไม่มีความพร้อมด้านการเงิน

 

 

 นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.  เล่าถึงการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ที่ สสส.ได้จับมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศในการขับเคลื่อนงานด้านดังกล่าว และเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุมาโดยตลอดตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วเกือบเข้าใกล้ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นคือ ราวๆ 13 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ถึงแม้จะเป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง แต่ก็มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง คือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังสองคน ตา ยาย และผู้สูงอายุที่ไม่แต่งงาน ราวๆ 3% ซึ่งไม่มีลูกหลานดูแล เป็นเรื่องโครงสร้างสังคมต้องรองรับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังและเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศไทย ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ ยังคงเป็นพลังสำคัญของสังคมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้คนในสังคม รวมถึงสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่นได้ และทำให้สังคมน่าอยู่

  

 

ผู้สูงอายุกับสุขภาวะดีใน 4 มิติ

 การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ สสส. ดำเนินงานในสุขภาวะ 4 มิติ คือ 

ด้านสุขภาพ สสส.ได้นำเสนอชุดข้อมูลการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น เรื่องการรับประทานอาหาร ไม่รสจัด ไม่แข็งเกินไป การดูแลสุขภาพฟัน ภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น โดยทำเป็นแพคเกจการดูแลสุขภาพของกลุ่มวัยผู้สูงอายุ

เศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการออมเงิน การประกอบอาชีพที่เหมาะสม ซึ่ง สสส.ส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น โปรแกรมวัยนี้ วัยดี สนับสนุนให้เกิดอาชีพที่เหมาะสม อาชีพที่ตอบสนองความฝันของผู้สูงอายุ ที่อาจจะชอบหรือมีพลังในการทำงานบางอย่างที่เสริมสร้างรายได้และมีความสุขด้วย หรือการออม บำนาญ เป็นต้น

สังคม สสส. สนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุต่างๆ ในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีเพื่อนและได้ทำกิจกรรม และปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุออนไลน์ เช่น เกษียณคลาส รวมถึงการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการเพิ่มคอร์สเรียนสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สามารถเก็บหน่วยกิจ และสามรถรับปริญญาบัตรได้

การออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน สสส. สนับสนุนคณะสถาปัตยกรรม 12 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้คำแนะนำ ความรู้ ในการปรับปรุงบ้านให้เหมาะสม โดยใช้วัสดุท้องถิ่นที่ปลอดภัย มาออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และเรื่องการเดินทางไร้รอยต่อ ซึ่งกำลังทำความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้สะดวกไม่ว่าจะใช้การโดยสารสาธารณะรูปแบบไหนก็ตาม 

  

 

 

สสส.จับมือภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญผู้สูงอายุ ออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุ ภายใต้คอนเซปไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

ได้ยิน สสส. กล่าวถึงวาทกรรมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อยู่บ่อยๆ ในการขับเคลื่องานด้านประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยที่ สสส.ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายที่เล็งเห็นความสำคัญเช่นเดียวกันในการขับเคลื่อนสุขภาวะกลุ่มเฉพาะ 

สำหรับผู้สูงอายุที่ยังคงเป็นกำลังใจและกำลังสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ให้กับคนรุ่นหนุุ่มสาวนั้น สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดกิจกรรม ชมรม โครงการต่างๆ ขึ้น เพื่อสนับสนุนสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุ เช่น

 


เกษียณคลาส
  สสส.สนับสนุนบริษัทยังแฮปปี้ ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมมุ่งสร้างคอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีรูปแบบการเรียนรู้ที่สนุก สมวัย 


อะไรก็ตามที่ผู้สูงวัย อยากรู้ ควรรู้ และต้องรู้ก็จะเกิดขึ้นในเกษียณคลาส มีการเชิญผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ มาให้ความรู้ โดย
ครอบคลุมเนื้อหาครบทุกด้าน เช่น อ.สง่า ดามาพงษ์ แนะนำเรื่องการรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย การเงิน กฎหมาย เทคโนโลยี หลักธรรมในการดำเนินชีวิต และงานอดิเรกอื่นๆ สอนสนุก เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง และได้เจอเพื่อนผู้สูงวัยที่ชอบทำกิจกรรมแบบเดียวกันมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”  นางภรณี อธิบาย

 

 

โครงการวัยนี้ วัยดีสสส. ร่วมกับ มนุษย์ต่างวัย ได้ส่งเสริมอาชีพสำหรับคนวัยเกษียณ โดยมีการจัดทำเวิร์คช้อป เสวนาแลกเปลี่ยนต่างๆ หรือมินิครอสที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ เช่น การชงกาแฟ การทำผ้ามัดย้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย 

 

 

ธนาคารเวลา  เครื่องมือและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยได้นำรูปแบบมาจากต่างประเทศ มีหลักการออมเวลา โดยให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยทักษะ ความรู้ ความชำนาญที่แต่ละคนมีอยู่ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนและได้รับค่าตอบแทนจากการไปช่วยงานเป็นเวลากลับมาแทน ซึ่งการฝากถอนจะต้องทำภายใต้ข้อตกลงร่วมของสมาชิก/ธนาคาร ทำงานอย่างเป็นระบบ มีลายลักษณ์อักษร 

 

 การนำเวลาของกลุ่มผู้สูงอายุมาแลกเปลี่ยนกันอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความเอื้ออาทรและแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ หลายพื้นที่ได้ทำแล้วเกิดประโยชน์ เพื่อนบ้านต่างเปิดรั้วบ้านเข้าหากันมากขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเวลาของกันและกัน เพราะหัวใจสำคัญ คือการมีส่วนร่วม และการสร้างสังคมที่เกื้อกูลไม่ทิ้งกันกิจกรรมรูปแบบนี้มีความเหมาะสมและมีการนำมาใช้กันมากในประเทศไทยนางภรณี อธิบาย

 
 

โครงการ ‘Incubation for Aging Society Demo Day 2022โดย สสส.ร่วมกับบริษัทยังแฮปปี้ พัฒนาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ สร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเป็นนวัตกร (Innovator)  ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยให้ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง เปลี่ยนภาระเป็นพลังท่ามกลางกระแสดิจิทัล