รายงานพิเศษ... อัมพร’ เลขาธิการกพฐ.เปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ภาคกลางและภาคตะวัน ออก ที่ราชบุรี’ ยิ่งใหญ่...

รายงานพิเศษ...

อัมพร’ เลขาธิการกพฐ. เปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน

ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ภาคกลางและภาคตะวัน

ออก ที่ราชบุรี ยิ่งใหญ่...

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : สร้างสรรค์ รายงาน 

 

ในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าภาพ ยิ่งใหญ่สุดประทับใจ 72 เขตพื้นที่การศึกษา ใน 27 จังหวัดและ ศูนย์การศึกษาพิเศษ 27 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 25 – 27 มกราคม 2566  

 

วันที่ 25 มกราคม 2566 ชาวจังหวัดราชบุรี ได้มีโอกาสต้อนรับ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ที่มาพร้อม นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งพี่น้องชาวการศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันออก ที่มาร่วมงาน

 

ในโอกาสเดียวกัน นายอังกูร  ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ยังได้นำคณะฯมาร่วมต้อนรับประกอบด้วย นางบรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ตามด้วย นางสาวสุภาวดี  มิสุนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 นางสุชาดา  ลิ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี และนายพิทักษ์  สุระชาติ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดราชบุรี

 

 

ภายใต้กรอบแนวคิด “หัตถศิลป์สร้างสรรค์ มุ่งมั่นวิชาการ สืบสานภูมิปัญญา เก่งกล้าเทคโนโลยี สร้างคนดีสู่สังคม” ซึ่งมีโรงเรียนทุกสังกัด ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมแข่งขัน

 

ซึ่ง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ประธานเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงรู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในวันนี้ เช่นเดียวกันกับคำกล่าวที่ออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ ที่ว่า...

 

ขอชื่นชมคณะกรรมการจัดงานทุกท่าน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง...

 

 

...การจัดการศึกษานั้นมีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกฝ่ายที่ต้องจัดหาประสบการณ์ที่ดี ให้แก่ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้แสดงออกในทางที่ดี ทั้งในและนอกสถานศึกษา

 

ซึ่งการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งที่สะท้อนให้เห็นด้านต่าง ๆ แสดงถึงความสามารถของนักเรียนในด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

 

และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การให้เกียรติผู้อื่นโดยมิได้มุ่งผลการแข่งขันอย่างเดียว นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งระดับโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด จนถึงระดับภาค

 

การที่คณะกรรมการจัดงาน ระบุกรอบแนวคิดการจัดงานที่ว่า “หัตถศิลป์สร้างสรรค์ มุ่งมั่นวิชาการ สืบสานภูมิปัญญา เก่งกล้าเทคโนโลยี สร้างคนดีสู่สังคม”  โดยผ่านกิจกรรมการแข่งขัน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมถึงการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และการส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ท้องถิ่น ผ่านรูปแบบต่าง ๆ 

 

แสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาทั้ง 72 เขตพื้นที่การศึกษา ใน 27 จังหวัด และศูนย์การศึกษาพิเศษ 27 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาถูกทางและมีความสอดคล้องกับแนวนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นอย่างดียิ่ง

 

 

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจ แก่หน่วยงาน สถานศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

และยังไม่ลืมกล่าวถึง บรรดานักเรียนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงาน ที่เสียสละทุ่มเทในการฝึกฝนจนสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถสัมฤทธิผลในด้านต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน..

 

นางบรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าว ในนามคณะกรรมการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดราชบุรี ว่า...

 

 

...การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดในนามกระทรวงศึกษาธิการ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง

 

“ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่าง ๆ กัน การที่เด็กทั้งหลาย พากันนิยมในการเป็นเสมียนหรือเข้ารับราชการให้น้อยลง”

 

 

และสานต่อเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังให้ การจัดงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เป็นเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ทักษะชีวิต โดยเน้นหลักกิจกรรมพัฒนา สมอง จิตใจ การลงมือปฏิบัติ และสุขภาพ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะฝีมือในด้านที่ถนัด พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต และเผยแพร่ผลงานสู่สายตาสาธารณชน

 

 

โดยการจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการจัดการแข่งขันให้เป็นปัจจุบัน ไม่เน้นที่การแพ้ ชนะ แต่เน้นการพัฒนา การแสดงออกให้เต็มกำลัง ให้เกียรติกับตนเอง และเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม

 

รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองในสถานการณ์นั้น ๆ สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ  และมีการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และ การส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ผ่านการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการนำเสนอนิทรรศการที่มีชีวิต

 

 

การจัดงานครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี,กรมการทหารช่าง,องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ,มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ,สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ,ส่วนราชการต่าง ๆ  ผู้บริหาร ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้อย่างดียิ่ง

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage