สช.จ่อปรับเกณฑ์ประเมิน 'ครูเอกชน' เทียบ ระดับวิทยฐานะ ครูรัฐ'

 

สช.จ่อปรับเกณฑ์ประเมิน 'ครูเอกชน' เทียบ

ระดับวิทยฐานะ ครูรัฐ'

   

จากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีข่าวดีมาแจ้งให้ทราบใน 3 เรื่อง

 

เรื่องแรก เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ กช. ในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน พ.ศ. ... เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่อนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวัน และสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอต่อความต้องการ

 

จึงสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี

 

โดยกำหนดนิยาม คุณสมบัติของโรงเรียนที่มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน คุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน อัตราเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน การยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน การดำเนินการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และการดำเนินการของโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันซึ่ง ประกาศฉบับดังกล่าวได้ปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานในปัจจุบัน  

 

ซึ่งจากเดิม การเบิกจ่ายค่าอาหารกลางวันให้โรงเรียนเอกชน จะผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ ขณะนี้มีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จึงทำให้ ประกาศฉบับใหม่จะปรับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนอาหารกลางวันไปที่ ศธจ.เพื่อให้ ศธจ.กระจายให้โรงเรียนเอกชนในพื้นที่ต่อไป

 

ดังนั้น สช.จะปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อนำเงินมาสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนในสังกัด สช.ตามประกาศฉบับใหม่ต่อไป และ เบื้องต้น สช.จะเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ดังที่ ครม.อนุมัติ ประมาณ 103 ล้านบาท

 


เรื่องที่สอง สิ่งที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้ฝากให้ สช.เข้าไปดูในเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ที่แบ่งใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูเป็น 3 ระดับ คือ

 

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น

และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง

 

ซึ่งอาจมีผลไปกระทบกับโรงเรียนเอกชน

 

เนื่องจากข้อบังคับคุรุสภากำหนดไว้ว่า ผู้ที่ยื่นคำขอมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้จะมีผลใช้บังคับนั้น ส่งผลกระทบกับครูโรงเรียนเอกชน เพราะครูโรงเรียนเอกชนไม่มีวิทยฐานะเหมือนครูของรัฐ ซึ่งทาง สช.มิได้นิ่งนอนใจและมีความกังวลเช่นกัน 

 

 

และ นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) บอกว่า...ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ เคยได้หารือกับเลขาธิการคุรุสภา แล้ว ได้เสนอแนวทางและแนะนำให้ สช.ไปพิจารณาวางเกณฑ์ใหม่ โดยให้ดูว่าควรจะมีเกณฑ์ใดบ้าง ที่จะทำให้ครูเอกชนนำไปเทียบระดับชำนาญการของครูรัฐได้

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สช.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อวางระบบประเมินให้ครูเอกชน เพื่อให้ครูเอกชนสามารถนำผลประเมินนี้ไปเทียบกับระบบวิทยฐานะ และยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้ 

 

และเรื่องที่สาม ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมเครือข่ายและความร่วมมือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)  การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบ  3 คณะ

 

มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบ การทำความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น การกู้ยืมของผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ และ การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของโรงเรียนนอกระบบ มาจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ที่สามารถลงไปสู่การปฏิบัติได้จริง.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage