ในหลวง-พระราชินีเสด็จฯไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

วันอาทิตย์  ที่  12  กุมภาพันธ์  พุทธศักราช  2566 เวลา 18.42  น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

         

       เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  จากนั้น พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 กราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นแท่นรับการถวายความเคารพ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ

ต่อจากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง เสด็จเข้าพลับพลาพิธี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร  ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล  เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร

จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ การก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์วิจัย ฯ จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย ชนกาธิเบศรดำริศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์  เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก 

เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ  เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยบนแผ่นศิลา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้งไว้เป็นที่ระลึก เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ชั้น 1 ทอดพระเนตรนิทรรศการผลสำเร็จจากงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง อาทิ การพัฒนาสตรอร์เบอรี พันธุ์พระราชทาน 89  การพัฒนาดอกกุหลาบพันธุ์จิตรา และดารา  และการพัฒนาคีนัว  ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ในประเทศไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่สูง 6 จังหวัดภาคเหนือ  นิทรรศการการขยายพันธุ์และการพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากดอกเอเดลไวส์ ซึ่งเป็นดอกไม้พระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และนิทรรศการการพัฒนาและสืบสานงานหัตถกรรมชนเผ่า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้น   จากนั้น เสด็จเข้าห้องรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องอเนกประสงค์ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารต่าง ๆ ภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ  โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอญอ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการ ฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ด้วย  เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง  และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 

สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร

         

       ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริเป็นศูนย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานนามศูนย์วิจัย ฯ ว่า ชนกาธิเบศรดำริมีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และประชาชนโดยรวมของประเทศ  ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 21 ไร่ 9 ตารางวา ประกอบด้วย อาคารทำการ 7 อาคาร ได้แก่

    1. อาคารอำนวยการ

    2. อาคารปฏิบัติการ 1 

    3. อาคารปฏิบัติการ 2 

    4. อาคารอารักขาพืช 

    5. อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร 

    6. อาคารเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช 

    7. อาคารดาต้า  เซ็นเตอร์ (DATA CENTER) 

           ศูนย์วิจัย ฯ แห่งนี้  เริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2563 โดยความร่วมมือของกองพลพัฒนาที่ 3  กองทัพภาคที่ 3 แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 การดำเนินงานภายใต้ศูนย์วิจัย ฯ ชนกาธิเบศรดำริ มีความครบถ้วนทั้งด้านการศึกษา  ค้นคว้า  การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช อย่างครบวงจร การวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของการวิจัย การบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ จากประสบการณ์ที่สั่งสมมามากกว่า 53 ปี เผยแพร่แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  ในการพัฒนาพื้นที่สูง  และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อให้งานของโครงการหลวง ยังประโยชน์ต่อทั้งชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก ให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป 

ในการนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง ร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้บริการพิมเสนน้ำและผ้าเย็น แก่ประชาชนชนเผ่าต่าง ๆ อาทิ ลาหู่ (มูเซอ) ไทลื้อ คะฉิ่น อาข่า และดาราอั้ง ซึ่งมาจากพื้นที่สถานีวิจัยและพัฒนาโครงการหลวงในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ พร้อมใจแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่าอย่างสวยงาม มาร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จด้วยความจงรักภักดีอย่างเนืองแน่น