เอนก' โต้ ส.ส.เพื่อไทย! ทุนจีน'ไม่ได้ฮุบ' มหา'ลัย แค่กม.เปิดช่อง สัดส่วนหุ้นคนไทยยังกว่ากึ่งหนึ่ง

 

เอนก' โต้ ส.ส.เพื่อไทย! ทุนจีน'ไม่ได้ฮุบ' มหา'ลัย แค่กม.เปิดช่อง สัดส่วนหุ้นคนไทยยังกว่ากึ่งหนึ่ง

 

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกรณีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของ นายขจิตร ชัยนิยม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่ระบุ อุดมศึกษาไม่มีคุณภาพ ไม่ทันสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการของเยาวชน อุดมศึกษาผลิตนิสิตนักศึกษาจบออกมาไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ว่า...

 

...ไม่เป็นความจริง

 

อุดมศึกษาไทยมีคุณภาพไม่แพ้ประเทศใด ตนในฐานะ รมว.อว.ได้ประกาศเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

โดยเบื้องต้นได้อนุมัติ SANDBOX 4 หลักสูตรนำร่องเพื่อผลิตกำลังคน ตอบโจทย์ประเทศ ได้แก่

 

1.หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ 15,000 คน ภายใน 10 ปี

2.หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี 400 คน ภายใน 7 ปี

3.หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล 1,880 คน ภายใน 8 ปี และ

4.หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม

 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ.2566 - 2570 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565 ตามที่กระทรวง อว.เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางและกลไกนำประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านที่จะพลิกโฉมประเทศ ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง คือ

 

1.ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

2.ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว

3.ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงบนพื้นฐานของการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน

4.ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสอย่างเต็มที่

5.ไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต และเทคโนโลยีอวกาศ และ

6.ไทยสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน

 

ส่วนที่มีการระบุว่า ทุนจีนกำลังรุกคืบจ้องซื้อมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง หลังจากเทคโอเวอร์ไปแล้ว 2 แห่ง ก็ไม่ใช่ความจริง

 

โดยปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน 3 มหาวิทยาลัย คือ 1.มหาวิทยาลัยเกริก 2.มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ และ 3.มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

 

แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ต้องเป็นคนไทย

 

สำหรับกรณีที่ระบุว่า อว.ควรหาวิธีพัฒนาหลักสูตร ทำอย่างไรที่จะให้นิสิตที่จบมาสามารถกลับไปทำงานในชนบท ภูมิลำเนาได้นั้น ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ

 

ในฐานะ รมว.อว.ได้ไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และได้ให้นโยบายกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ให้มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่จะให้นิสิตนักศึกษาที่จบมาสามารถกลับไปทำงานในชนบท ภูมิลำเนาได้

 

ยกตัวอย่าง การตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ได้ให้นโยบายต้องคิดหลักสูตรของตัวเองให้ตรงตามศักยภาพ ตรงตามความต้องการของพื้นที่ ออกแบบหลักสูตรของตัวเองให้มากขึ้น เป็นต้น.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage