สอศ.ร่วมมือบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์พัฒนาอาชีวะระบบทวิภาคี ด้านยานยนต์

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ทั้งด้านการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู และพัฒนาหลักสูตรระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด โดยนายชาญฉลาด ทองดี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด  และมี เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหาร สอศ.และผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สอศ. พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เปิดเผยว่า สอศ. ร่วมมือกับบริษัท โค้วยู่ฮะ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ อันดับ 1 ของประเทศ โดยความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือทางวิชาการ ด้านการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู และพัฒนาหลักสูตรซึ่งดำเนินงานกับสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 23 แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ยกระดับการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยานยนต์ของอาชีวศึกษา มีแนวทางดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ สื่อการเรียนการสอนจากบริษัทฯ  มีการจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับความรู้และประสบการณ์ฝึกปฏิบัติงานด้านยานยนต์ เป็นแรงงานที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ตลาดแรงงานของประเทศและนานาชาติ รวมถึงเป็นส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สอศ. ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ

นายชาญฉลาด ทองดี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้สนับสนุนนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ โดยมีสวัสดิการ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าชุดฟอร์มพนักงาน และค่ารองเท้าเซฟตี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ รับสมัครนักศึกษาเข้าทำเป็นพนักงานของบริษัทเมื่อจบการศึกษา ปัจจุบัน ได้เริ่ม โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดย บริษัท ร่วมกับ อาชีวศึกษา จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอาชีวศึกษาจังหวัดเลย ได้มีการบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ การจัดการเรียน การสอน ระบบทวิภาคี จํานวน 23 วิทยาลัย และ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 เปิดสอนในระดับปริญญาตรี และเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาและดําเนินการเรียนการสอนระบบทวิภาคีในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างยนต์ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขา เทคนิคยานยนต์ และหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยียานยนต์ (ปริญญาตรี) ให้ สอดคล้องและสามารถรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้