สสส. ร่วมสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เสริมกลไกความปลอดภัยทางถนน หนุนเป้าหมายลดการสูญเสีย ภายในปี 2570

 

สสส.สานพลัง อบต.ทรายขาว ร่วมสร้าง“ตำบลขับขี่ปลอดภัย” หนุนเสริมกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนน ปรับปรุงถนน-แก้ไขจุดเสี่ยง-สวมหมวกนิรภัย 100% ปลูกฝังความรู้เด็ก-เยาวชน ลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรม

 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ที่ อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาวและเครือข่าย 9 แห่ง ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานตำบลขับขี่ปลอดภัย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า อบต.ทรายขาว เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย มียานพาหนะสัญจรจำนวนมาก พบปัญหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด มีจุดเสี่ยง จุดอันตราย สสส.ได้สนับสนุนการจัดการความปลอดภัยทางถนน อาทิ การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีโครงสร้างการจัดการความปลอดภัยทางถนนที่เข้มแข็ง ปรับถนน ภูมิทัศน์ จุดเสี่ยง จุดอันตราย ติดตั้งป้ายเตือน ติดตั้งสัญลักษณ์จราจร ตัดแต่งกิ่งไม้ริมทาง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ มีการสำรวจพื้นที่หมู่บ้าน ทั้งถนน ไฟฟ้า ข้อมูลต่าง ๆ นำมาประกอบการพัฒนา และแก้ไขจุดเสี่ยง

 

 

 สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจัดอยู่ใน 7 เป้าหมายการทำงานในทศวรรษหน้าของ สสส. เพราะความสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย จึงสานพลังชุมชนเพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เพื่อลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรมและร่วมสนับสนุนเป้าหมายการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของชาติ ภายในปี 2570 ผลที่เกิดจากการดำเนินงานใน อบต.ทรายขาว 1. ติดตั้งป้ายเตือนความเร็ว ป้ายเตือนเมาไม่ขับ ป้ายจำกัดความเร็ว ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร สัญลักษณ์เตือนจุดเสี่ยงต่างๆ ในชุมชน อาทิ ตุงแดง  เสาแดงขาว หุ่นฟาง ในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในชุมชน 2. อัตราการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ตำบลทรายขาวลดลง โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 2 ราย เมื่อเทียบกับปี 2561 ลดลงถึง 50%” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

 

นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 กล่าวว่า การทำงานตำบลขับขี่ปลอดภัย เป็นการสานพลังการทำงานในพื้นที่แบบบูรณาการความร่วมมือกับ 4 องค์กรหลัก ท้องถิ่น ท้องที่ กลุ่มองค์กรชมุชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจในทุกกลุ่มวัย ร่วมกันหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ โดยการสำรวจพฤติกรรมการขับขี่ สภาพแวดล้อมทั้งถนนสายหลักและสายรองในชุมชน รวมถึงการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย สะท้อนให้เห็นรูปธรรมการดำเนินงานที่ชัดเจนในระดับพื้นที่ อาทิ ผู้นำชุมชนและพนักงานภาครัฐ เป็นแบบอย่างในการขับขี่ปลอดภัย นักเรียนได้รับองค์ความรู้และมีจิตสำนึกที่ดีต่อการสร้างวินัยจราจร การปรับภูมิทัศน์ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ปลอดภัย และลดจำนวนวนอุบัติเหตุทางท้องถนน

 

 

 “การทำงานตำบลขับขี่ปลอดภัย โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นการสานพลังชุมชน เกิดกระบวนการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ทั้งคน รถ ถนน เพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหาของตนเองจากฐานข้อมูลตำบล เกิดการจัดทำแผนพัฒนาตำบลและกำหนดแผนการทำงานในข้อบัญญัติ บังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อตกลงระดับหมู่บ้าน มาตรการชุมชน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายธวัชชัย กล่าว

 

นายจีรพงษ์ ใจวงศ์ นายก อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย กล่าวว่า ต.ทรายขาว มีถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 ถนนพหลโยธินตัดผ่าน มีระยะทางห่างจาก จ.เชียงราย 29.5 กิโลเมตร อยู่ทิศเหนือห่างจากตัว อ.พาน ระยะทาง 15 กิโลเมตร มีจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 10 จุด ทางโค้ง 3 จุด สะพาน 3 จุด และทางร่วมทางแยก 4 จุด ข้อมูลอัตราการเกิดอุบัติเหตุจราจรพื้นที่ ต.ทรายขาว ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 100 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 98 คน และเสียชีวิต 2 คน จากสาเหตุบริเวณจุดเสี่ยงทางแยก ขาดสัญญาณจราจร ถนนขรุขระ มียานพาหนะสัญจรจำนวนมาก และใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  สสส. ได้หนุนเสริมการลดอุบัติเหตุ ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการความปลอดภัยทางถนน เกิดกลไกการจัดการระดับพื้นที่และเครือข่าย มีการพัฒนานวัตกรรมการแก้ปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย มีแผนการจัดการที่ครอบคลุม 

 

 

โดยมีรูปธรรมการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลทรายขาว อาทิ การลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงในและนอกเทศกาล การอบรมให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน รณรงค์การสวมหมวกนิรภัย 100% ลดความเร็วในพื้นที่ 1 ท้องถิ่น 1 speed zone และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายจิตอาสา อาสาสมัคร กู้ชีพ กู้ภัยช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด  ทำให้การขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุในพื้นที่มีประสิทธิภาพ