เปิดบทบาทหน้าที่ ผู้อำนวยการอาชีวศึกษา จังหวัด 77 แห่ง ครอบคลุมรัฐ- เอกชน ทั่วไทย

 

เปิดบทบาทหน้าที่ ผู้อำนวยการอาชีวศึกษา

จังหวัด 77 แห่ง ครอบคลุมรัฐ- เอกชน ทั่วไทย

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานดำเนินการของสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความคล่องตัว ตรงบรรลุวัตถุประสงค์ เหมาะกับบริบทพื้นที่  ตลอดการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายหลัก 5 ข้อ ในการปฏิบัติงาน และเป็น 1 ใน 9 นโยบายเร่งด่วน (Quick win)

 

อีกทั้งมีการปรับปรุงกฎ ประกาศ  ระเบียบ ข้อบัง คำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน ตามประกาศใช้ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่กำหนดจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด โดยมีสถานที่ตั้งในวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัดทุกแห่ง ยกเว้นพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีวิทยาลัยเทคนิคจัดตั้ง

 

ทั้งนี้ กรรมการได้พิจารณาคัดเลือกและเสนอรายชื่อผู้อำนวยการสถานศึกษาในจังหวัด จำนวน 3 ราย นำเสนอ สอศ. คัดเลือกและแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดอีกหน้าที่หนึ่ง

 

รวมถึงการแต่งตั้งรองประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด (อาชีวศึกษาภาครัฐและอาชีวศึกษาภาคเอกชน) โดยแต่งตั้งรองประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดคนที่ 1 จากผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และรองประธานอาชีวศึกษาจังหวัดคนที่ 2 จากผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชน และแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 77 แห่ง แล้วนั้น

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังกล่าวถึงรายละเอียดและบทบาทหน้าที่ ในส่วนของสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด ต่อไปว่า แบ่งการบริหารงานออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

 1. กลุ่มบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่ดำเนินการประสานงาน บริหารจัดการ และดูแลการปฏิบัติงานของบุคลากรในหน่วยงาน

 

2. กลุ่มขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษา มีหน้าที่ วิเคราะห์ เสนอแนะ บูรณาการ วางแผนงานนำไปสู่การขับเคลื่อน ส่งเสริม แนะนำการดำเนินงาน ประสานงานที่เกี่ยวข้องกับครูและบุคลากรอาชีวศึกษาในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

3. กลุ่มนิเทศการอาชีวศึกษา มีหน้าที่ พัฒนางานด้านวิชาการ วิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้า พัฒนาหลักสูตร สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน รวมถึงให้คำแนะนำ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพของสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

 

4. กลุ่มสารสนเทศและการติดตามประเมินผลการอาชีวศึกษา มีหน้าที่ จัดทำแผนการรับนักเรียน รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำข้อมูลด้านสารสนเทศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ประสานงานและติดตามการปฏิบัติงาน การจัดทำรายงาน การประเมินผลทั้งสถานศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน.

  

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage