รายงาน ผักปลอดสาร ณ แปลงอาชีวะเกษตรสาขาพืชศาสตร์วกศ.ปทุมธานี...

วันที่  21  มีนาคม 2566  ที่ ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี  (วกศ.ปทุมธานี) ชวนไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมอบรม"เพื่อเสริมทักษะ New Skill ด้าน Soft Skill" 2 กิจกรรมให้กับนักเรียน นักศึกษา และ บุคลากรทางการศึกษาของ วิทยาลัย ตลอดจนประชาชนในละแวกรอบๆสถานศึกษาที่สนใจ

กิจกรรมแรกคือ "ศิลปะการฉาบตกแต่งแก้ไขพื้นผิวเดิมของอาคารด้วยปูนฉาบแต่งผิวเพื่อการสร้างสรรค์งานลอฟท์" ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ควิกโคท โปรดักส์ จำกัด โดย นางสาวนุช ยิ่งไพบูลย์ ผู้จัดการแผนกคู่ค้าสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์

กิจกรรมที่สอง คือ "ศิลปะการชงชาและวัฒนธรรมการดื่มชาแบบไต้หวัน"ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิธรรมกิจไพศาล โดย ดร.บรินดา จางขจรศักดิ์ ประธานมูลนิธิ และผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (BDI)

          วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีหรือวกศ.ปทุมธานี  ยังมีจุดเช็คอินเล็กๆในรั้ววิทยาลัย  ขนาดว่าอาจพัฒนาให้เป็น “Soft Power”แบบกะทัดรัดของวิทยาลัยและของชุมชนได้ ผอ.ดร.ศันสนีย์ ชวนไปเยี่ยมชมทิ้งท้านก่อนแยกย้ายกลับ ก็คือแปลงเกษตร ที่มีทั้งแปลงผักอายุสั้นปลูกหมุนเวียน  เป็นผักปลอดสาร ผลผลิตออกตลอดทั้งปี ทำให้มีผักอนามัยบริโภคสนองความต้องการประชาชนกลุ่มหนึ่งพอสมควร เป็นผลผลิตฝีมือของครูอาจารย์ นักเรียนสาขาเกษตรหรือสาขาพืชศาสตร์ 

แปลงเกษตร  ส่วนหนึ่งเป็นแปลงผัก ที่ผอ.วกศ.พาไปดูมีทั้งแปลงผักแบบลงดิน  แล้วก็แบบไฮโดรโปนิกส์คือแบบไร้ดิน เป็นแปลงผักอายุสั้น 1 เดือนเก็บผลผลิตไปรับประทานได้ แล้วก็มีแปลงเกษตรอื่นๆทั้งบ่อปลา โรงเรือนสัตว์ปีกเช่นไก่เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาพืชศาสตร์ ถือเป็นห้องเรียนกลางแจ้งของนักเรียนนักศึกษาที่จะได้รับความรู้แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติจริงจนนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในด้านการเกษตร  ยึดเป็นอาชีพได้ เป็นการเกษตรแบบก้าวหน้าโดยนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือพัฒนาเกษตรจนเป็น “Smart Farmers”ทรงอย่างเท่ห์ทีเดียว

ผักและผลผลิตทางการเกษตรของวกศ.ปทุมธานีนอกจากเป็นจุดเริ่มต้นแห่งองค์ความรู้ทางวิชาการและการเพิ่มทักษะความชำนาญในสายอาชีพเกษตรแล้ว ยังกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอาหารที่กระจายสู่สังคมได้ระดับหนึ่ง ที่นอกเหนือจากนำไปเป็นอาหารของนักเรียนนักศึกษาบุคลากรของวิทยาลัย ยังจำได้ว่า ย้อนไปต้นปี2562 โรคไวรัสโควิท-19 ระบาดใหม่ๆรุนแรง จนประชาชนแทบขยับเขยื่อนไปไหนไม่ได้ แปลงเกษตรของวิทยาลัยแห่งนี้ได้เกื้อกูลชาวชุมชนรอบๆวิทยาลัยได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

แปลงเกษตรของวิทยาลัยในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษาเรียนรู้วิชาการและปฏิบัติอาชีพเกษตรกรรม อาชีพพืช อาชีพส่ตว์ อาชีพประมง ยังคงมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าพัฒนาความทันสมัยที่นักเรียนนักศึกษาสามารถมีความรู้ความสามารถสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมรองรับการเกษตรของไทยได้อย่างภาคภูมิ  แปลงเกษตรของวิทยาลัยวกศ.ปทุมธานี้  จึงเป็นห้องเรียนกลางแจ้งให้ภาควิชาสาขาพืชศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนทั้งนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาดูงาน แล้วยังอาจถือว่าเป็นจุดเช็คอินเล็กๆเป็นแหล่งSoft Powerในแวดวงแคบๆได้

ต้องชื่นชมผู้บริหารนำโดยผอ.ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ และครูอาจารย์ทุกคน

พูดถึงแปลงผักหนึ่งในภาคส่วนของแปลงเกษตร  ผอ.ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ พาลงแปลง หลังจบกิจกรรมอบรมโครงการเสริมทักษะอาชีพพิเศษ ก่อนล่ำลากลับ  ไปเยี่ยมชมแปลงผักทั้งที่ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์และลงดิน

         

      อาจารย์เฉลิม เอี่ยมมิ ในฐานะที่รับผิดชอบภาควิชาพืชศาสตร์ของวกศ.ปทุมธานีบอกว่า นโยบายของผอ.ดร.ศันสนีย์ สนองนโยบายเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้ทุกวิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษาพัฒนาฟาร์มอย่างต่อเนื่อง วกศ.ปทุมธานีที่จัดการเรียนการสอนสาขาพืชศาสตร์ จึงพัฒนาวิชาการเกษตรเป็นฟาร์ม อย่างแปลงผักปลอดสารที่นำมาชมนี่เป็นผักระบบไฮโดรโปนิกส์ มี 34 โรงเรือน มีนักเรียนทั้งปวช.ไปจนถึงปวส.รับผิดชอบร่วมกันกับแผนกวิชาเครื่องกลเกษตร สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ผักที่ปลูกมีหลายชนิดแยกเป็นแถวละชนิดมีทั้งคะน้าเห็ดหอม ผักกาดขาวและผักอื่นแต่ละชนิดอายุคราวละ 30  วันเก็บผลผลิต ปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาที่เรียนตรงนี้ 60 คนต่อรุ่น

         

       อาจารย์เฉลิมพรบอก นอกจากการเรียนการสอนเกษตรที่ทันยุคสมัยโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หมุนไปตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก แต่สังคมไทยที่ทิ้งไม่ได้คือ การปลูกฝังองค์ความรู้และฝึกฝนให้ซึมเข้าสู่สำนึกคือ การยึดมั่นในวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานของความขยัน อดทน การปลูกฝังสำนึกแห่งการให้ การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การรู้จักเสียสละให้อภัย และความกตัญญู อันเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่สังคมต้องการ ที่สถานประกอบการต้องการ ที่ชาติบ้านเมืองต้องการ วกศ.ปทุมธานีเป็นหนึ่งวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการเกษตรชีววิถี ที่เน้นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็ง

เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรของวิทยาลัยที่มีจำนวนพอสมควร มีคำถามผอ.ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ ว่า ถ้าหากประชาชนคนทั่วไปต้องการบริโภคผักปลอดสารของวิทยาลัยบ้างจะซื้อหาได้ที่ไหน 

ได้รับคำตอบว่า แห่งแรกคือร้านผลไม้ใบผัก ในปั๊มน้ำมันบางจากใกล้กับวิทยาลัย  อีกแห่งคือตลาดสามย่านโดยให้สังเกตสัญลักษณ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ท่านที่ต้องการลิ้มรสผักปลอดสารผลผลิตของนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ใกล้ที่ไหนก็แวะไปซื้อหา ณ ที่ที่เอ่ยข้างต้น  วันนี้ทานผักปลอดสารของวิทยาลัยอาชีวะแล้ว นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย  ยังถือว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมสร้างประโยชน์การศึกษาสายอาชีพเกษตรกรรมของวิทยาลัยอาชีวศึกษา  ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่ชาวนาชาวสวน ส่งเสริมเด็กไทยนักเรียนนักศึกษาอาชีวะให้มีกำลังใจได้เลือกเรียนเลือกสายอาชีพการเกษตร กระตุ้นให้ขยันอดทนฝึกฝนลงมือเพิ่มทักษะ แล้วยังมีรายได้เป็นทุนการศึกษาระหว่างเรียนไปด้วย

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com