สอศ.สร้างช่างฝีมือปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ขยายโอกาส ต่อยอดการมีงานทำ

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ณ วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดพร้อมให้โอวาท การปัจฉิมนิเทศ มอบสัมฤทธิบัตรผู้สำเร็จการฝึกอาชีพ และใบประกาศเกียรติคุณ โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ระดับชาติ รุ่นที่ 5 ปีการศึกษา 2565 โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน และมีนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายวิทวัต ปัญจมะวัต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน นายสหรัฐ สีมานนท์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม ผู้บริหารสถานศึกษา ครู เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ร่วมพิธี

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี  มอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2565 วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 229 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 111 คน และมอบประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นกำลังใจในการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร ครูและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้สนับสนุนงานโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางพระดาบส จำนวน 73 คน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวให้โอวาทความตอนหนึ่งว่า นับเป็นนิมิตหมายและตัวอย่างที่ดีของอาชีวศึกษา ที่เป็นภารกิจสำคัญตามชื่อ คืออาชีวศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ สัมมาชีพ อาชีพที่สุจริต อาชีพที่มั่นคง อาชีพที่ถูกต้อง  กระทรวงศึกษาธิการเองก็พัฒนาและจัดการอาชีวศึกษามาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาขึ้นมาก ขอชมเชยผู้อำนวยการ ผู้บริหารทุกท่านที่รับผิดชอบ  และจากการที่เยี่ยมชมนิทรรศการของวิทยาลัยเกษตรที่จัดแสดง ได้นำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมิ่งและออนไลน์ เทรด มาใช้งาน และการสร้างเรือนปลูกผัก จึงมีความน่าสนใจต่อการสร้างการเรียนรู้  ดีใจที่พวกเราตามเทคโนโลยีทัน การจัดการศึกษาสมัยใหม่ ออนไลน์เทรด ไฟแนนซ์เชียล คือสิ่งสำคัญ นี่คือการเปลี่ยนแปลงของอาชีวะ ผู้นำทันโลก ทันเทคโนโลยี ทันสมัย ถ้าไม่ทันก็สู้เขาไม่ได้ ทุกศาสตร์ในโลกต้องทันเทคโนโลยี อาชีวะเราไปได้ดีมากและขอฝากถึงผู้รับสัมฤทธิ์บัตร จบการศึกษาแล้ว มีงานทำ ต้องขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญูขยัน คือจบแล้ว มีอาชีพหาเงินได้ต้องประหยัดเพื่ออนาคต ไม่สุรุ่ยสุร่าย ทำบัญชีครัวเรือน เรามีเงินออมหรือไม่ ให้คิดและสร้างเป้าหมาย และต้องมีความซื่อสัตย์และกตัญญู ทั้งต่อตนเอง นายจ้าง พ่อ แม่ พี่น้อง ทำดีอนาคตจะมั่นคง

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการกอศ.) กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – จนถึงปัจจุบัน โดยในครั้งนี้นับเป็นรุ่นที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จการฝึกอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 207 คน มีผู้เข้ารับสัมฤทธิบัตร จำนวน 131 คน จากสถานศึกษา 12 แห่ง (สถานศึกษานำร่อง) ได้แก่ 1.วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา 3. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี 4. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี 5. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี 6. วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง 7. วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร 9. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ 10. วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา 11. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี และ 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว

“โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท ที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือว่างงาน ให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพโดยเน้นการฝึกทักษะวิชาชีพ ควบคู่กับการปลูกฝัง คุณธรรม จริยธรรม ให้เยาวชนเป็นคนดีที่สามารถกลับไปประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเองได้ โดย โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ เป็นการจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลักสูตร 1 ปี มีการจัดการเรียนการสอนระยะ 5 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน (10+1) 11 ได้แก่ ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ ช่างปูน ช่างตะไบ และสาขาเกษตรกรรม ระยะ 3 เดือนต่อมา ผู้เรียนเลือกทักษะที่สนใจ เพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง และอีก 4 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง”

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการฝึกทักษะอาชีพแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และส่งเสริม สนับสนุน เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคน นำไปสู่ความสำเร็จ สามารถไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน มีโอกาสในการประกอบอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรม เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี ประพฤติดี  มีความมั่นคงในการปฏิบัติตนเป็นคนดี และเป็นพลเมืองดีของประเทศต่อไป

“จากการดำเนินโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ที่ผ่านมาในพื้นที่ ที่มีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษามีความต้องการเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพในโครงการ สอศ. จึงได้จัดทำโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส จากสถานศึกษา จำนวน 12 แห่ง ขยายเพิ่มเป็นจำนวน 30 แห่ง ในสถานศึกษาภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกอศ.กล่าวสรุป