พ.ศ.2570 : ปิดมหาวิทยาลัยของรัฐ 32 แห่ง ?

พ.ศ.2570 : ปิดมหาวิทยาลัยของรัฐ 32 แห่ง ?

 

องศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก :อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และ ผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก ผู้เขียน ได้เขียนบทความเรื่อง พ.ศ.2570 : ปิดมหาวิทยาลัยไทยกี่แห่ง? โดยเสนอข้อมูลการยุบมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยยังไม่ได้เฉลยความคิดตนเองว่า จะมีมหาวิทยาลัยของรัฐไทยถูกยุบกี่แห่ง

 

วันนี้จะลองตั้งสมมติฐานการปิดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยบนพื้นฐานของข้อมูล ดังนี้

 

1.ประเทศสหรัฐอเมริกา ปิดมหาวิทยาลัย 2,500 แห่ง จาก 4,500 แห่ง เหลือ 2,000 แห่ง คิดเป็นเป้าหมายการปิดมหาวิทยาลัยร้อยละ 55.55  ในปี ค.ศ.2028 (พ.ศ.2570)

 

ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของทฤษฎี disruptive innovation ที่เลื่องชื่อ ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง  และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง (วิกฤติอุดมศึกษา “มหาวิทยาลัยเจ๊ง” อเมริกาปิดแล้วกว่า 500 แห่ง : Workpoint News Advertisement, 3 มีนาคม 2018)

 

2.ประเทศรัสเซีย ปิดมหาวิทยาลัย 1,255 แห่ง จาก 3,137 แห่ง เหลือ 1,882 แห่ง คิดเป็นเป้าหมายการปิดมหาวิทยาลัยร้อยละ 40.01

 

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย ดิมิทรี ลีวานอฟ เปิดเผยว่า จะมีการลดปริมาณมหาวิทยาลัยในประเทศลงครั้งใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่เกินปี 2016 จะมีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนปิดลง 40% โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน จะโดนยุบถึง 80% จำนวนมหาวิทยาลัยในรัสเซีย แบ่งออกเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ 593 แห่ง มีมหาวิทยาลัยสาขา 1,376 แห่ง รวม 1,969 แห่ง   มหาวิทยาลัยเอกชน 486 แห่ง มีสาขา 682 แห่ง รวม 1,168 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,137 แห่ง(รัสเซียเตรียมปิดมหาวิทยาลัยกว่าครึ่ง: Evgeny Vorotnikov,University World News, Eduzones.com, สืบค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2562)

 

3.ประเทศญี่ปุ่น: ปิดมหาวิทยาลัย 130 แห่ง จาก 779 แห่ง เหลือเพียง 649 แห่ง คิดเป็นเป้าหมายการปิดมหาวิทยาลัยร้อยละ ร้อยละ16.69

 

กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า ณ ปี 2558 ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 779 แห่งแยกจำนวนตามประเภท ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (รัฐ) 86 แห่ง มหาวิทยาลัยท้องถิ่น (รัฐ) 89 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 604 แห่ง มหาวิทยาลัยไหนทนการขาดทุนไม่ไหวก็จะต้องปิดตัวไป โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก และจะทำให้จำนวนมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นลดลง ทุกวันนี้สถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้น โดยพบว่าจนถึงสิ้นปี 2559 มีมหาวิทยาลัยปิดตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง (เผยแพร่: 9 ม.ค. 2560 08:17   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ mgronline.com)

 

4.ประเทศไทยนั้น หากจะตั้งสมมติฐานการปิดมหาวิทยาลัย คิดเป็นร้อยละ บนข้อมูลของ (1) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปิดมหาวิทยาลัยจนถึงปี 2570 ร้อยละ 55.55 (2) รัสเซีย ร้อยละ 40.01 และ (3) ญี่ปุ่น ร้อยละ16.69 โดยการหาค่าเฉลี่ย  55.55+40.01+16.69=112.25/3=37.42 จากจำนวนมหาวิทยาลัยเฉพาะในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 157 แห่ง (ไม่นับรวมวิทยาเขต) จะได้จำนวนมหาวิทยาลัยที่ต้องปิดไปดังนี้

 

       4.1 สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 85 แห่ง หากจะต้องปิดร้อยละ 37.42 เท่ากับต้องปิดมหาวิทยาลัย  32 แห่ง คงเหลือ 53 แห่ง

 

4.2 สถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 72 แห่ง หากจะต้องปิดร้อยละ  37.42 เท่ากับต้องปิดมหาวิทยาลัย 27 แห่ง คงเหลือ 45 แห่ง

 

#หมายเหตุ ตัวเลขคาดการการปิดมหาวิทยาลัยไทยข้างต้นเป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเท่านั้น ยังมีตัวแปรอื่นๆอีกมาก ที่จะเป็นเหตุผลในการปิดหรือควบรวมมหาวิทยาลัย แต่อย่างน้อยตัวเลขข้างต้นก็เป็นการพยากรณ์ว่า อาจจะมีการปิดหรือควบรวมมหาวิทยาลัยภายในปี พ.ศ.2570 จำนวน รัฐ 32+ เอกชน 27= อย่างน้อย 59 แห่ง 

 

5.###สมมติฐานข้างต้นน่าจะใกล้เคียงกับกระแสข่าวการออกคำสั่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ 137/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ.2547 และพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548 โดยอาจมีเป้าหมายควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง เหลือ 8 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เหลือ 1 แห่ง จะทำให้มหาวิทยาลัยของรัฐหายไปจากการควบรวมทันที 38 แห่ง

 

และหากเป็นไปตามกระแสข่าวจริง ในส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐขนาดเล็กหรือขนาดกลางเล็กที่ไม่สามารถเป็นมหาวิทยาลัยแบบ Stand Alone เหมือนมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ได้ ก็จะมีมหาวิทยาลัยหายไปอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน

 

ดังนั้น ตัวเลขร้อยละ 37.42 ของการปิดมหาวิทยาลัยของรัฐ อาจเทียบเคียงไปถึงจำนวนของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีเป้าหมายการปิดมหาวิทยาลัย ร้อยละ 55.55 #ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนการปิดมหาวิทยาลัยก็คงเป็นไปตามกลไกการทำธุรกิจการศึกษา

  

  

6.#นอกจากการส่งสัญญาณการปิด/ควบรวมมหาวิทยาลัยข้างต้นแล้ว ยังมีการส่งสัญญาณเชิงนโยบายสำหรับการควบรวมจำนวนโรงเรียนที่รับผิดชอบการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ดังข่าวนี้

 

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้พิจารณาเรื่องมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566 - 2570 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ผ่านมาทาง คปร. ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความคิดเห็นโดยสรุปว่า

 

ปัจจุบันแนวโน้มจำนวนนักเรียนในประเทศไทยลงลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการยุบหรือควบรวมยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

 

อย่างไรก็ดี สพฐ. ได้มีแผนในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 - 2570 จำนวน 10,314 แห่ง (แนวทางตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565))

  

7.สภาพปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสิ้น จำนวน  29,583 โรงเรียน ประกอบด้วย

โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 0-120 คน จำนวน 14,958 แห่ง และมีจำนวนโรงเรียนที่มีนักเรียนต่างขนาดกัน จำนวน 14,625 แห่ง ประกอบด้วย  (1) นักเรียน 121-200 คน จำนวน 7,000 แห่ง (2) นักเรียน 201-300 คน จำนวน 3,300 แห่ง (3) นักเรียน 301-499 คน จำนวน 1,961 แห่ง (4) นักเรียน 500-1,499 คน จำนวน 1,673  แห่ง (5) นักเรียน  1,500 -2,499 คน จำนวน 408 แห่ง (6) นักเรียน 2,500 คนขึ้นไป จำนวน 283 แห่ง. (สมคิด หอมเนตร ; 24 พฤษภาคม 2565)

  

ดังนั้น เมื่อ คปร.,กคศ. และ สพฐ.ตั้งเป้าหมายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะทำให้ สพฐ.มีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 29,583-10,314 จะคงเหลือ = 19,269 โรงเรียน เท่ากับ จะมีการยุบโรงเรียน ร้อยละ 34.86

  

###การตั้งสมมติฐานการปิดมหาวิทยาลัยของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประมาณร้อยละ 37.42 จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการปิดโรงเรียนของ คปร.,กคศ. และ สพฐ.

  

8.ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะต้องถูกปิดหรือไม่ก็ตาม ทุกมหาวิทยาลัยก็จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยทุกมหาวิทยาลัยอาจจะต้องถูกจัดอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 

กลุ่มที่ 1.Stand Alone มหาวิทยาลัยใหญ่ที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เข้มแข็ง ทั้งวิชาการ งานวิจัย จำนวนอาจารย์ นิสิต/นักศึกษา

 

กลุ่มที่ 2.Collapse การยุบรวมหรือควบรวมระหว่างมหาวิทยาลัยขนาดกลางกับขนาดเล็ก โดยมหาวิทยาลัยขนาดกลางเป็นหลัก

  

กลุ่มที่ 3. Merge การควบรวมระหว่างมหาวิทยาลัยขนาดใกล้เคียงกัน ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเดียวกัน มหาวิทยาลัยใดเก่งด้านใด ก็เป็นหลักในด้านนั้น

  

กลุ่มที่ 4. Cancel การยุบเลิกโดยไม่มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัย อันเนื่องจากการบริหารล้มเหลว อาจารย์ขาดคุณภาพ หลักสูตรไม่ทันสมัย ไม่มีนิสิตนักศึกษา หรือมีก็จำนวนน้อย

 

มหาวิทยาลัยของรัฐใด จะถูกจัดให้อยู่กลุ่มใด? ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจัดกลุ่ม? รัฐควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจน  เพราะการปิดมหาวิทยาลัย ส่งผลกระทบต่อประชาคมมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage