ค.ร.อ.ท.ฝากรัฐบาลใหม่ หนุนอาชีวศึกษา เหมือนเยอรมัน จบแล้วค่าตอบแทนต้องสูงกว่าสาขาอื่น

 

ค.ร.อ.ท.ฝากรัฐบาลใหม่ หนุนอาชีวศึกษา เหมือนเยอรมัน จบแล้วค่าตอบแทนต้องสูงกว่าสาขาอื่น

 

วันที่ 15 เมษายน 2566 นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า จากการติดตามนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคการเมืองที่นำเสนอในช่วงนี้ให้กับประชาชน พบว่า หลายพรรคมีนโยบายการศึกษาที่มุ่งพัฒนากำลังคนและมีทีมงานที่มีคุณภาพรับผิดชอบด้านการศึกษาที่ชัดเจนขึ้น

 

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนอาชีวศึกษาได้เคยเรียกร้องให้พรรคการเมืองได้สนับสนุนการอาชีวศึกษาเมื่อครั้งมีการนำเสนอแก้ไขพรบ.การศึกษา ที่ยังตกค้างอยู่ในสภาฯ โดยเสนอแนวทางการสร้างความเข้มแข็งกับพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค ให้การอาชีวศึกษาเป็นการอาชีวศึกษาแห่งชาติ ที่แท้จริง

 

แฟ้มภาพ 

โดยทีมงานเครือข่ายฯค.ร.อ.ท.จึงได้กำหนดวางแผนยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษา เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองได้ให้ความสำคัญกับการจัดการอาชีวศึกษาซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ผลิตคนเพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ในขณะนี้การอาชีวศึกษา ยังไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจจากรัฐบาลที่ผ่านมาเท่าที่ควร

 

ในเร็ว ๆ นี้เครือข่าย ค.ร.อ.ท. จะได้นำทีมงานเครือข่ายฯ ค.ร.อ.ท.นำเสนอแนวทางการพัฒนาอาชีวะหรือการสร้างความเข้มแข็งให้กับการอาชีวะ โดยจะไปพบกับทีมนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่เห็นว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า เพื่อที่จะให้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านอาชีวะอย่างแท้จริง

 

และขอให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจการศึกษาด้านอาชีวะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะทำให้การอาชีวศึกษาได้รับความสนใจหรือพัฒนาเหมือนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คนชาวอาชีวศึกษาคาดหวังไว้ คือ อยากจะให้มีการพัฒนาการศึกษาในระบบทวิภาคีเหมือนประเทศเยอรมัน

 

การที่การอาชีวศึกษาจะได้รับความสนใจจากภาคประชาชน จากผู้ปกครอง หรือ จากผู้เรียนโดยผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียนด้านวิชาชีพเป็นจำนวนมากขึ้น เพื่อที่จะให้อาชีวศึกษาได้ผลิตกำลังคนที่มีทักษะมีคุณภาพออกไปประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระหรือเข้าสู่สถานประกอบการก็จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทุกด้าน ทำให้สถานประกอบการสามารถที่จะรองรับหรือมีการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง

 

ที่สำคัญคนจบอาชีวศึกษา จะต้องมีค่าตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงกว่าสาขาอื่น โดยจะต้องมีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาอาชีวะ จะต้องได้รับการพัฒนาได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการสร้างห้องเรียนแห่งอนาคต หรือ เครื่องมือที่ทันสมัยและประสารประกอบประสานงานกับสถานประกอบการ โดยมีกฎหมายที่เอื้อต่อสถานประกอบการในการร่วมมือสนับสนุนด้านอาชีวะ เป็นต้น

 

นายเศรษฐศิษฐ์ กล่าวอีกว่า หลังเลือกตั้งถ้าได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ที่ให้ความสนใจการอาชีวศึกษาย่อมสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้อาชีวศึกษาได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเครือข่ายฯ ค.ร.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลได้สนับสนุนด้านการปฏิรูปการศึกษาอาชีวศึกษาการแก้ไข พรบ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ด้านกฎระเบียบต่าง ๆเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษามีความต่างจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

 

ทั้งนี้ เพราะการบริหารการจัดการด้านบุคลากรงบประมาณต่าง ๆ การบริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะนำกฎระเบียบต่างๆของภาพรวมจากการศึกษาขั้นพื้นฐานมาใช้ในการบริหารกับอาชีวศึกษา ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะใช้กันได้เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนการบริหารงานวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ดังนั้นรัฐมนตรีที่มาใหม่ จึงหวังว่าจะสามารถที่จะสนับสนุนเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการบริหารงานบุคคลให้อาชีวะมีความเป็นเอกภาพ และ สามารถบริหารจัดการออกกฎระเบียบต่าง ๆ เอื้อต่อการจัดการอาชีวศึกษาในอนาคตต่อไป

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับรู้และให้การสนับสนุนการอาชีวศึกษา ที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนนั้นก็คือ การจัดปรับโครงสร้างสร้าง ความมั่นคงของบุคลากรด้านการอาชีวศึกษาให้มีรูปแบบที่เข้มแข็ง เหมือนการจัดการศึกษาของประเทศเยอรมันซึ่ง เป็นต้น

 

จึงหวังว่าในอนาคตกันใกล้ ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาลหรือดูแลกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องได้รัฐมนตรี ศธ.ที่มีความกล้าหาญ เป็นคนรุ่นใหม่มองการณ์ไกลยึดประโยชน์ของผู้เรียนและประชาชนและสถานประกอบการให้เอื้อต่อการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อชาติต่อไป

 

 

ประธานเครือข่ายฯ ค.ร.อ.ท. ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษา หรือ ค.ร.อ.ท.ในนามภาคประชาชนขึ้นมา เพราะเชื่อมั่นว่า ข้อคิดเห็นจากสมาชิกเครือข่ายฯย่อมมีน้ำหนักที่จะทำให้รัฐบาลรับฟังได้

 

 เพราะเป็นการรวมบุคคลทุกอาชีพทุกระดับเพื่อที่จะมาช่วยกันเป็นปากเสียงให้กับประชาชน เพื่อที่จะชี้ให้ภาครัฐบาลได้เห็นว่า อาชีวศึกษาควรที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องของงบประมาณด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในอาชีวศึกษา เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีทันความเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเครือข่ายฯ มีการรวมกลุ่มกัน จากผู้มีความรู้มีประสบการณ์ จากสถานประกอบการ นักวิชาการช่วยกันระดมความคิดต่าง ๆ ที่จะนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่คนทุกภาคส่วน ต้องการให้อาชีวศึกษาดำเนินการ หรือพัฒนาไปในรูปแบบใด เพื่อที่จะส่งเสียงไปให้รัฐบาล  

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage