สานพลังภาคีเครือข่าย จัดดีเบตประชันวิสัยทัศน์ หยุดความรุนแรงเด็ก – ผู้หญิง – ครอบครัว สร้างระบบคุ้มครองสิทธิ-ช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ

 

เลือกตั้ง 66 พบสถิติความรุนแรงในไทยพุ่งปีละ 1.5 พันราย/ปี สสส. สานพลัง ภาคีเครือข่าย จัดดีเบต 8 พรรคการเมือง ประชันวิสัยทัศน์ หยุดความรุนแรงเด็ก – ผู้หญิง – ครอบครัว ตัดตอนปัญหาถูกทำร้ายซ้ำซาก แก้ช่องโหว่กฎหมาย สร้างระบบคุ้มครองสิทธิ-ช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่อาคารเทพทวารวดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว, สมาคมเพศวิถีศึกษา, มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร, สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จัดเวทีดีเบต เลือกตั้ง 66 ประชันวิสัยทัศน์ 6 ประเด็นคำถาม ‘นโยบายพรรคการเมืองกับความหวังในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว’ โดยมีนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เป็นประธานเปิดกิจกรรม มี 8 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม พรรคก้าวไกล นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ นางสาวนฤมล รัตนาภิบาล พรรคพลังประชารัฐ นายชานันท์ ยอดหงษ์ พรรคเพื่อไทย นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย ว่าที่ร.ต.อ.อัยรดา บำรุงรักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายกรกนก คำตา พรรคสามัญชน

 

 

นางภรณี กล่าวว่า ความรุนแรงบนฐานเพศเป็นปัญหาที่ สสส. ต้องการจัดการให้หมดไป หลังพบข้อมูลสำคัญจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิง ชี้ให้เห็นช่องโหว่กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิผู้ที่ได้รับความรุนแรง เช่น ขาดผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพที่มีความรู้ ทัศนคติ ความเชี่ยวชาญ, ขาดการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูระยะยาว, ขาดสหวิชาชีพประสานงานข้ามหน่วยงานเป็นระบบ และขาดสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นข้อมูลปัจจุบัน ขณะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยว่าความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 1,564 คน/ปี หรือ 130 คน/วัน มีปัจจัยจากยาเสพติด สุรา พนัน หย่าร้าง หึงหวง และความเครียดจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้ สสส. ทำงานเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยอย่างเข้มข้น

 

นางภรณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สสส. สานพลัง 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน 1.ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ เช่น จัดสวัสดิการให้เด็ก ผู้หญิง ครอบครัวที่ยากลำบาก ผลักดันนโยบายระดับอำเภอและจังหวัด ป้องกันและลดความรุนแรงต่อผู้หญิงในท้องถิ่น 2.ขับเคลื่อนความรู้และงานวิชาการ เช่น จัดทำคู่มือแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหาย คู่มือพัฒนาทีมสหวิชาชีพ คู่มือคุ้มครองสวัสดิภาพคนในครอบครัว 3.ขับเคลื่อนการสื่อสารและพัฒนาภาคีเครือข่าย เช่น พัฒนาแกนนำผู้หญิง จิตอาสาที่เคยเจอความรุนแรง ช่วยเหลือเรื่องการต่อสู้คดีและการเยียวยา แต่นอกจากภาคประชาสังคมที่ร่วมกันผลักดัน การที่มีนโยบายที่ดีจะเป็นฟันเฟืองที่แข็งแกร่ง ในการทำให้ความรุนแรงหมดสิ้น หรือดีขึ้น

 

 

 เวทีดีเบตเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ จะช่วยชี้ชะตาอนาคต ในการแก้ปัญหาความรุนแรง ข้อสรุปต่างๆ จะเป็นเข็มทิศช่วยให้ สสส. สำรวจและขยายสถานการณ์ความรุนแรงทุกมิติร่วมกับภาคีเครือข่ายได้มากขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายได้ตรงประเด็น และอุดรอยรั่ว ช่องโหว่ของกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ที่ได้รับความรุนแรงได้ตรงจุดและทำได้จริง ซึ่งแนวคิดจากพรรคการเมือง จะถูกนำมาเป็นฐานข้อมูลประกอบ สู่การพัฒนาสุขภาวะป้องกันความรุนแรงได้ต่อไปในอนาคต” นางภรณี กล่าว

 

 

ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ในการหาเสียงครั้งนี้เราไม่ค่อยได้ยินพรรคการเมืองพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ดังนั้นเครือข่ายจึงจัดเวทีรับฟัง และมีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ดังนี้ 1.เร่งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงของประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 2.ประกาศให้การขจัดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับประเทศ และปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ ให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง 3.จัดตั้งกลไกหลักระดับประเทศ เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการระบบงานแก้ไขปัญหาความรุนแรง ปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ พัฒนาระบบฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกกระทำในระยะยาว และแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำรุนแรง ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 4. ปรับปรุงการบริหารกำลังคน เพิ่มผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้เพียงพอ ครอบคลุมทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสริมทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่จำเป็น 5.จัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ และสนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรง 6.มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในระยะยาว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหา