การพลิกแนวคิดเรื่องการศึกษา ของพรรคก้าวไกล หลังศธ.ติดกับดักแบบอำนาจนิยม จากนี้ไปที่ทำไว้จะไม่หมือนเดิม

"ตุลย์ ณ ราชดำเนิน" 

การพลิกแนวคิดเรื่องการศึกษา ของพรรคก้าวไกล หลังศธ.ติดกับดักแบบอำนาจนิยม จากนี้ไปที่ทำไว้จะไม่หมือนเดิม                          

 

หลัง “เพื่อไทย” ประกาศตอบรับก้าวไกลจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล พร้อมสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั่งนายกฯ โดยรวมพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม รวมแล้วได้ 309 เสียง 

 

แน่นอนว่า ในส่วนการศึกษา คงมิอาจมองข้าม นโยบายการศึกษา เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการพลิกแนวคิดเรื่องการศึกษา ที่ติดกับดักการศึกษาแบบอำนาจนิยม ที่สั่งให้เด็กทุกคนต้องเป็นแบบเดียวกันหมดที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดี มาเป็นการศึกษาที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน

 

คือ การเน้นที่ประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในการศึกษาไทยที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การที่นักเรียนไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ระบบไม่สามารถแปรความขยันของผู้เรียนออกมาเป็นทักษะที่แข่งขันกับหลักสากลได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงมากทุกปี แต่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศ เรียนฟรีก็ยังไม่ฟรีจริง หรือคุณครูที่ต้องทำงานหนัก แต่กลับหมดเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสอน

 

 

และหัวใจสำคัญของนโยบาย ‘การศึกษาไทยก้าวหน้า’ ของพรรคก้าวไกล คือ การเน้นที่ประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในการศึกษาไทยที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การที่นักเรียนไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ระบบไม่สามารถแปรความขยันของผู้เรียนออกมาเป็นทักษะที่แข่งขันกับหลักสากลได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงมากทุกปี แต่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศ เรียนฟรีก็ยังไม่ฟรีจริง หรือคุณครูที่ต้องทำงานหนัก แต่กลับหมดเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสอน

 

ดังนั้น นโยบายการศึกษาไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล จึงถูกออกแบบบนพื้นฐานว่านักเรียนหนึ่งคนที่เติบโตในประเทศไทย ต้องได้รับการศึกษาที่ประกอบด้วยอย่างน้อย คุณสมบัติ หรือ 6 ด้าน รวม 20 นโยบาย ดังนี้ 

 
เรียนฟรี ที่มีอยู่จริง

ถึงแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการอุดหนุนเงินให้กับโรงเรียนเป็นเงินรายหัว แต่ในความเป็นจริงนั้น การเรียนยังไม่ฟรีจริง ทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายจริงที่ต้องแบกรับ

รายงาน กสศ. ระบุว่ามี “ค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการศึกษา” สูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อคนต่อปี เช่น ค่าบำรุงการศึกษา, ค่าเครื่องแบบ, ค่าหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน และ ค่าเดินทางไปเรียน

ความไม่เป็นธรรมและภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน จนทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาในช่วงโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเด็กที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษาสูงเกิน 200,000 คน (จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ 2564)

นอกจากนี้ การอุดหนุนเงินสำหรับการจัดการการเรียนสอนที่ให้ตรงไปที่โรงเรียน ยังถูกจัดสรรโดยคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวคูณด้วยจำนวนนักเรียนเป็นหลัก ทำให้เกิดผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีความต้องการเฉพาะ ที่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เป็นผลให้คุณภาพการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างแต่ละโรงเรียน


พรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา :

1. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง

·         ป้องกันการตกหล่นทางการศึกษาในอนาคต ผ่านการเพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 4,000 ล้านบาท และเพิ่มกลไกอื่น ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงเร่งดำเนินการให้เยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา สามารถกลับเข้าสู่ระบบหรือเข้าถึงช่องทางการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้

·         เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าอาหาร ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย (รวมถึง ปวช.) เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน

·         เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าเดินทาง ระดับประถม 200 บาท/เดือน ระดับมัธยม 300 บาท/เดือน รวมถึงเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน (เช่น ใบอนุญาตเฉพาะ เกณฑ์ด้านการตรวจสภาพรถ เครื่องมือแจ้งเตือนในรถ)


2. ทุกโรงเรียนมีงบพอ

·         ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน โดยยึดวิธีการคำนวณตามมาตรฐานสากล FSQL (Fundamental School Quality Level) ที่พิจารณาหลายปัจจัยนอกเหนือจากจำนวนนักเรียน เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีทรัพยากรเพียงพอในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียนที่ดี และมีครูที่เพียงพอต่อนักเรียน

·         เพิ่มอำนาจการตัดสินใจของโรงเรียนในเรื่องการใช้งบประมาณ โดยปรับเป็นการจัดงบประมาณจากส่วนกลางให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างตรงจุดมากขึ้นสำหรับแต่ละโรงเรียน


3. โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต

·         เปิดข้อมูลรายรับ-รายจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง ของโรงเรียนทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของการบริหารจัดการโรงเรียนที่ตอบสนองประโยชน์สูงสุดของนักเรียนและการศึกษา

·         จัดให้มีโครงการ “คนโกงวงแตก” ป้องกันการทุจริตในโรงเรียน (เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ / การทุจริตหนังสือเรียน) ผ่านการวางกลไกที่จูงใจให้กลุ่มคนที่ร่วมกันโกง ฟ้องกันเอง จนเกิดความระแวงสำหรับใครที่คิดจะร่วมกันโกง (leniency programme)

·         จัดให้มีมาตรการ “แฉโกง ปลอดภัย” คุ้มครองคนแจ้งเบาะแส ตลอดจนเปิดโปงเปิดการทุจริตในโรงเรียน ผ่านกลไกที่รับประกันความปลอดภัยและความก้าวหน้าทางอาชีพของผู้กล้าที่ออกมาแฉการทุจริต (whistleblower protection) 

 

โรงเรียนปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม


โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน

แต่ปัจจุบัน นักเรียนกลับเผชิญกลับหลายปัจจัยในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพวกเขาใน 3 มิติ

(1) ความปลอดภัยทางร่างกาย – ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ (เช่น อาคารเรียนชำรุด ไฟดูด น้ำท่วม) และ ปัญหาสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด)
(2) ความปลอดภัยทางสภาพจิตใจ – ทั้งในเรื่องของความเครียดจากภาระการเรียนที่หนัก และภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีส่วนทำให้การฆ่าตัวตายได้กลายมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย
(3) ความปลอดภัยจากอำนาจนิยม – ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิโดยบุคลากรในสถานศึกษา (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ) รวมถึงการโดนกลั่นแกล้ง (bullying) จากทั้งครูและนักเรียนด้วยกัน


นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา :

1. ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา

·         แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย และวางมาตรฐานในทุกโรงเรียนให้ถูกหลักสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำต้องสะอาดและปลอดภัยในทุกโรงเรียน)

·         ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อลดอุบัติเหตุในโรงเรียน และป้องกันจุดเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวนักเรียน (เช่น ตกน้ำ ไฟดูด เป็นต้น)

·         พัฒนาทักษะและสนับสนุนเครื่องมือให้ครู มีความรู้พื้นฐานในการสังเกตอาการของนักเรียนด้านสุขภาพจิต

·         เพิ่มช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (เช่น เจ้าหน้าที่สาธาณสุข-นักสังคมสงเคราะห์-นักจิตวิทยา ประจำกลุ่มโรงเรียน / สายด่วนสุขภาพจิตโดยเฉพาะนักเรียน / การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในการเข้าถึงจิตแพทย์)


2. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

·         ออกข้อกำหนด “กฎโรงเรียนต้องห้าม” เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ การบังคับไปทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน)

·         อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก


3. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

·         พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น

·         แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่


4. ยกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมือง

·         เปลี่ยนกิจกรรมตั้งแถวในโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่อาจตอบโจทย์วัตถุประสงค์ด้านการเรียนรู้มากกว่า (เช่น การให้ครูประจำชั้นและนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันในห้องเรียนก่อนมีการเรียนการสอน การอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมืองเพื่อให้นักเรียนเท่าทันข่าวสาร) เพื่อให้เวลาของผู้เรียนถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้เรียน 

 

ปฏิวัติการศึกษา สร้างคนให้เท่าทันโลก


นักเรียนไทยเรียนหนักและมีจำนวนชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ทักษะหลายอย่างกลับยังไม่สามารถแข่งกับนานาชาติได้

·         เช่น ในการวัดทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านของเด็กแต่ละประเทศทั่วโลก (การประเมิน PISA 2018) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 58 ด้านคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54 ด้านวิทยาศาสตร์ และอันดับที่ 67 ด้านการอ่าน จาก 79 ประเทศทั่วโลกที่ถูกวัดผล

·         เช่น ในการวัดทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index 2022) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 111 ของประเทศที่ถูกวัดผล

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความขยันหรือความทุ่มเทของนักเรียน แต่อยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถแปรความขยันหรือเวลาของนักเรียน ไปเป็นทักษะที่แข่งขันในระดับสากลได้

การปฏิรูปหลักสูตร-วิธีการสอน-การประเมิน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา :

1. ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง

·         ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี

·         หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ)

·         ปรับการสอนทุกวิชาให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร การสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)

·         ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง (เช่น การทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow) การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ)


2. ชั่วโมงเรียนดี มีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ

·         ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียนลง (เป้าหมายไม่เกิน 800 – 1,000 ชั่วโมงต่อปี) เพื่อให้เหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน

·         ลดวิชาพื้นฐานที่บังคับเรียนในชั้นประถม-มัธยมต้น และเพิ่มวิชาเลือกที่หลากหลายขึ้นและลดสัดส่วนวิชาบังคับในชั้นมัธยมปลาย

·         ลดการบ้านเพื่อรับประกันเวลาเพียงพอในการพักผ่อน (เช่น บูรณาการการบ้านในหลายวิชา เปลี่ยนจากการบ้านเป็นการทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมในเวลาเรียน)

·         ลดการสอบและหาวิธีประเมินรูปแบบอื่น (เช่น การทำโครงการกลุ่ม)

·         ปรับวิธีการประเมิน-การทดสอบระดับชาติ (O-NET) เป็นแบบสุ่มสอบนักเรียนกลุ่มหนึ่งในแต่ละโรงเรียน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนแทนการสอบทั้งระดับชั้น


3. โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้

·         ปรับทิศทางหลักสูตร-การสอน-การประเมินวิชาภาษาอังกฤษ ที่เน้นการสื่อสารหรือการใช้ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นเพียงหลักภาษาและไวยากรณ์

·         เสริมทักษะครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training)

·         ทำ MOU โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูต่างชาติและครูไทย เพื่อเพิ่มสภาพแวล้อมที่นักเรียนไทยได้ใช้ภาษาอังกฤษ

·         ตั้งเป้าให้ทุกโรงเรียนสอนเป็น 2 ภาษา ภายใน 4 ปี โดยการทยอยเพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ (เช่น English Fridays ให้วันศุกร์หรือ 1 วันต่อสัปดาห์ในระดับโรงเรียน เป็นสำหรับการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ)


4. เปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลยทันที

·         กำหนดไม่ให้ออกข้อสอบที่วัดเนื้อหาเกินหลักสูตร เพื่อรับประกันความเสมอภาคทางโอกาสของนักเรียนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกโรงเรียน

·         เปิดเผยข้อสอบและเฉลยข้อสอบย้อนหลัง เพื่อยกระดับคุณภาพการสอบ เปิดให้เกิดการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของคำถาม/คำตอบ และให้เป็นคลังความรู้ที่ผู้เข้าสอบรุ่นต่อ ๆ ไปจะสามารถเข้าไปใช้ฝึกฝนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

·         ปรับอัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ TCAS จากเดิมที่ต้องจ่ายทั้งค่าสอบสำหรับทุกการสอบและค่าอันดับ เป็นการจ่ายแบบอัตราเดียว (flat rate) ไม่เกิน 500 บาท สำหรับทุกบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายของ ทปอ. 

  

คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครู


ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลาที่มากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย รวมถึงภาระงานของครูมหาศาล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาไทย

 

โดยใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา หรือคิดเป็นกว่า 42% ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการถูกกดทับด้วยอำนาจภายในโรงเรียน เช่น ถูกผู้บริหารใช้งานนอกเหนือหน้าที่ จนคุณครูไม่สามารถทุ่มเทไปที่การสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินที่ไม่ยึดโยงเพียงพอกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากรครูที่ยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการพัฒนาทางการศึกษาในระยะยาว

 

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:


1. คืนครูให้นักเรียน เลิกนอนเวร ลดงานเอกสาร ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมิน-รับแขก

·         ยกเลิกภาระงานที่ไม่จำเป็น หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนของคุณครูออกทั้งหมด (เช่น การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน การอบรมหรือโครงการที่ไม่จำเป็น) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

·         ลดเวลาในการทำงานเอกสาร/งานธุรการในโรงเรียน ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น เช่น การเซ็นเอกสารออนไลน์ รวมไปถึงการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการที่เพียงพอและมีความมั่นคง


2. นักเรียนประเมินครู ครูประเมิน ผอ.

·         จัดให้มีการประเมินทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนแบบรอบทิศ หรือ 360 องศา เพื่อให้

·         (i) นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินครู – ซึ่งจะทำให้ครูมีความยึดโยงกับผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจของนักเรียนในฐานะผู้รับบริการการศึกษา

·         (ii) ครูมีส่วนร่วมในการประเมินผู้บริหารโรงเรียน (ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ) – เพื่อให้ผู้บริหารถูกประเมินจากข้อมูลที่รอบด้าน และป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบกับครู


3. งบอบรมให้ครู-โรงเรียน ตัดสินใจเองว่าจะเรียนรู้อะไร

·         เปลี่ยนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการอบรมครูทั้งหมดที่ส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ เป็นการให้เงินตรงไปที่

·         (i) ครูแต่ละคน เพื่อใช้ซื้อคอร์สอบรมพัฒนาทักษะที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ (เช่น เริ่มต้นที่ คนละ 3,000-5,000 บาทต่อปี)

·         (ii) โรงเรียน สำหรับใช้ในการจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการสอนของครูในระดับโรงเรียน 

 

การศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่ที่โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


การเรียนรู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน และการเรียนรู้ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะเรื่องวิชาการเข้มข้น ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมทักษะและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตให้แก่เยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การซื้อหนังสือที่ชอบ หรือการเรียนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนเองสนใจ

อีกทั้งในปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาทีอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่สังคมและเศรษฐกิจต้องการในตอนนี้ บางอาชีพอาจถูกทดแทนโดยเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้แรงงานในบางอาชีพเสี่ยงที่จะตกงานหรือเสียรายได้และความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนวัยกลางคนที่พ้นจากระบบการศึกษาไปชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว

 

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา :

1. คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปีสำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน

·         แจกคูปองพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัยให้กับเด็กอายุ 7-18 ปี เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้-ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ แบ่งเป็น ระดับประถมปีละ 1,000 บาท / ระดับมัธยมปีละ 1,500 บาท / ระดับอุดมศึกษาปีละ 2,000 บาท


2. เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. จบแล้วมีงานทำ

·         สนับสนุนการเรียนฟรีในระดับอาชีวศึกษา ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนต่อในสายอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และนำไปสู่การประกอบอาชีพเฉพาะด้านซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

·         จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเพื่อปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำการเรียนการสอนในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐให้ทันสมัย (4,500 ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อแห่ง)

·         จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเข้มข้นให้กับอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มาสอนให้แก่นักเรียน

·         ส่งเสริมการเรียนระบบทวิภาคี โดยปรับปรุงระบบประกันคุณภาพการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้ประกอบการในตลาด (เช่น การร่วมออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ การกำหนดรูปแบบการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักเรียนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงที่หลากหลาย การส่งเสริมให้มีการรับประกันการจ้างงานผู้ที่จบการศึกษา)


3. แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด รับรองคุณวุฒิพร้อมระบบจัดหางาน

·         สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน

·         แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี จำนวน 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม (แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน)

·         พัฒนาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ผู้ได้รับการรับรองวิชาชีพได้รับความเชื่อถือจากตลาดแรงงานและสังคม ด้วยการพัฒนาเงื่อนไขและคุณสมบัติของการรับรองคุณวุฒิให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของเอกชน และปรับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกัน 

 

กระจายอำนาจทางการศึกษา


อำนาจในการจัดการศึกษายังกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานในรูปแบบคณะกรรมการที่อยู่ในส่วนกลางมากเกินไป ทำงานซ้ำซ้อนกัน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค คือ ศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค

ทำให้สุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่ได้มีอำนาจในการจัดการศึกษาที่เป็นอิสระเหมาะสมกับบริบทของตัวเอง อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากนักเรียน เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมอย่างเพียงพอในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับโรงเรียน


1. กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น

·         กระจายอำนาจให้โรงเรียนด้านงบประมาณ (เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์)

·         กระจายอำนาจเรื่องบุคลากร (เช่น กลไกในการให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือกครู)

·         กระจายอำนาจเรื่องวิชาการ (เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน การลดการควบคุมจากส่วนกลาง)

·         เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ตลอดจนดูแลโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาของประชาชนในพื้นที่


2. บอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน

·         กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนนักเรียน

·         เพิ่มกลไกให้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการสถานศึกษาในบางตำแหน่ง (เช่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง)

·         เพิ่มความเป็นมืออาชีพ โดยการจัดอบรมให้กรรมการที่ไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษา

·         เปลี่ยนจากระบบอาสาสมัคร เป็นการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม


3. สภาเยาวชน มาจากการเลือกตั้ง เสนอกฎหมายไปที่สภาได้

·         จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเยาวชน โดยให้สภานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น

·         (i) เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ (เทียบเท่ากับการที่ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ)

·         (ii) เสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง

·         (iii) ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มาตอบในสภาได้ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง

·         (iv) เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงไปที่คณะรัฐมนตรี

 

 (โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)