เลขาฯอาชีวะหารือGuangdong Mechanical and Electrical Polytechnic รองรับการพัฒนากำลังคนระหว่างประเทศ

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) ร่วมประชุมหารือด้านความร่วมมือการอาชีวศึกษา พร้อมเป็นพยานความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารและGuangdong Mechanical and Electrical Polytechnic โดยคุณ เจิ้ง เหว่ย กวาง ผู้อำนวยการ ณ Guangdong Mechanical and Electrical Polytechnic สาธารณรัฐประชาชนจีน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เปิดเผยว่า จากความร่วมมือดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วางแผนความร่วมมือกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาของประเทศจีน ในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะทางอาชีพ และทักษะภาษาจีน สอศ. พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและองค์กร และจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติและศูนย์ย่อยอาเซียน เพื่อสนับสนุนความร่วมมือการผลิตกำลังคนระหว่างประเทศ ร่วมจัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะทางเทคนิค 5 หลักสูตร และหลักสูตรการฝึกอบรม "ภาษาจีน+ทักษะอาชีพจำนวน 7 หลักสูตร โดยร่วมกับสหพันธ์การลงทุนต่างประเทศของสมาคมการลงทุนจีน, หอการค้าอีคอมเมิร์ซจีน-แอฟริกา, หอการค้านานาชาติกวางตุ้ง และองค์กรอื่นๆ ตามแนว หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

"สอศ.มีแนวคิดในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะด้านภาษาและเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และเป็นเป้าหมายหลักของ สอศ. ซึ่งความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และGuangdong Mechanical and Electrical Polytechnic ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญ และเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้ สมรรถนะ และทักษะ ที่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้สามารถรู้เท่าทันและปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และกติกาใหม่ ๆ และมาตรฐานที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบและปัจจัยส่งเสริมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทั้งในส่วนของระบบการเรียนการสอน และการพัฒนาทักษะฝีมือที่สอดคล้องกันกับการพัฒนาของคนในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวทันโลก จากการต่อยอดการพัฒนาบนพื้นฐานนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลให้เกิดการสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วน”ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวตอนหนึ่งจากการประชุมหารือด้านความร่วมมือการอาชีวศึกษา