เสวนากับบรรณาธิการ : สอบครูผู้ช่วย ปี 66 บนจุดอ่อน “บ้ายกกำลัง 2 หรือเปล่า (วะ) ศธ"

 

 

สอบครูผู้ช่วย ปี66 บนจุดอ่อน “บ้ายกกำลัง 2 หรือเปล่า (วะ) ศธ"

 

การสอบบรรจุครูผู้ช่วยประจำปี 2566 ทุกเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ ) ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่กระจายอำนาจไปให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ เพื่อจะให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน ก.ค. 2566  

 

โดยมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นเจ้าภาพเปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา ผู้มีสิทธิสอบรวม 169,595 คน เข้าสอบ 167,673 คน ขาดสอบ 1,922 คน

 

 

แม้ว่าภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็มิวายพบปัญหา เริ่มจากมหาวิทยาลัยบางแห่งจัดส่งข้อสอบผิดพลาด ถึง 3 เขตพื้นที่ฯ  รวมถึงความบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องยกประโยชน์ให้กับผู้เข้าสอบไป

 

ก่อนหน้านี้ มีเสียงแสดงความห่วงใยว่า การให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการออกข้อสอบ ก็น่าจะมีการรั่วไหลของข้อสอบออกไปถึงศิษย์ของแต่ละสถาบันที่จบออกมาบ้าง ซึ่งความน่าจะเป็น ไม่ทราบว่าทาง สพฐ.จะตรวจสอบได้อย่างไร...

 

รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาในทำนองเกรงว่า ข้อสอบโดยภาพรวมในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) บางกลุ่ม ที่ร่วมกันว่าจ้างมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ อาจขาดซึ่งมาตรฐาน ทั้งความยาก-ง่ายในเชิงคุณภาพหรือไม่ ?

 

 

ในเรื่องนี้ นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยกับ edunewssiam ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากการสอบ 'ครูผู้ช่วย 2566' ทั่วประเทศ เป็นจำนวนมาก ถึงเนื้อหาการออกข้อสอบ มีความยากเกินความจริง

 

ซึ่งบางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีผู้สอบผ่านเพียงคนเดียว และบางแห่งไม่มีผู้สอบผ่านเลย

 

พิลึกไปกว่านั้น สอบ ครูผู้ช่วย 2566 ประกาศผลใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 60% แต่สอบผอ.เขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท กลับไปใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 50%

 

แถมออกข้อสอบ ครูผู้ช่วย 2566 ก็แสนยาก เอาความรู้ของคนออกข้อสอบเป็นเกณฑ์ในการประเมิน มีผู้เข้าสอบร้องเรียนมาเยอะมาก ทำอย่างนี้เพื่อใคร ?

 

จึงกลายมาเป็นที่มาของ “บ้าหรือเปล่า (วะ) กระทรวงศึกษาธิการ"

 

ตามมาด้วยการสรุปประเด็นปัญหาการสอบครูผู้ช่วย ในปี 2566 ในหลายประเด็นร้อน ที่ไม่เพียงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น ที่ต้องตอบคำถาม ยังพ่วงสำนักงาน ก.ค.ศ., คณะอนุกรรมการข้าราชการครูฯ (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศธ.ก็มิอาจลอยตัวเหนือปัญหากับการตั้งข้อสังเกตทั้งปวง นี้ไปได้  

 

ซึ่ง นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบการสอบบรรจุครูผู้ช่วยประจำปี 2566 ทุกเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ. )

 

น่าจะมีจำนวนมาก 80 ถึง 100 ล้านบาท ซึ่ง สพฐ.ต้องตัดมาจากงบโครงการอื่นเพื่อให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นพื้นที่มีส่วนร่วม 

 

อีกทั้งราคาค่าใช้จ่ายที่จัดจ้างให้มหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่ง บางแห่งคิด 500 บาทต่อคน บางแห่งคิด 1,000 บาทต่อคน การดำเนินการก็มิได้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

 

ถามว่า...พอจะกล้าเปิดเผยราคา ค่าแรงในแต่ละ มหาวิทยาลัย 10 แห่ง ที่รับกันไปครั้งนี้ หรือไม่

 

ลองมาไล่รายชื่อ มหาวิทยาลัยที่รับงานจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ในการออกข้อสอบ ตรวจและประเมินผลการสอบ มีทั้งหมด 10 แห่ง มีดังนี้

 

- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (๙ แห่ง) Cluster ที่ ๑, , , , , ๑๒, ๑๓, ๑๗ และ ๑๘

- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี Cluster ที่ ๑๐, ๑๑

- มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี Cluster ที่ ๒

- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช Cluster ที่ ๕

- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี Cluster ที่ ๖

- มหาวิทยาลัยสงขลานศินทร์ วิทยาเขตปัตตานี Cluster ที่ ๗

-มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี Cluster ที่ ๑๔

- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ Cluster ที่ ๑๕

- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย Cluster ที่ ๑๖

- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษ

 

จะเห็นว่า การกระจายให้แต่ละแห่งออกไปทำข้อสอบ แม้เป็นอ้างว่าเพื่อให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นพื้นที่ตนเองมีส่วนร่วม แต่เนื่องจาก มีการให้หลายแห่งออกข้อสอบ จึงน่าเป็นห่วงถึงมาตรฐานที่น่าเชื่อถือระดับเดียวกันทั้งประเทศหรือไม่

 

เพราะไม่ใช่เครื่อง ชั่ง ตวง วัด พิจารณาจากเอกเดียวกัน บางเขตง่าย บางเขตยาก ทั้ง ๆ ที่เป็นครูไทยด้วยกัน

 

ดีนะครับ ที่ยังไม่เจอโจทย์เดียวกันหรือทำนองเดียวกันแต่ เฉลยไม่เหมือนกัน

 

เมื่อกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก จึงเปลืองเงินค่ากรรมการฯ ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งที่เปิดเผยได้และมิอาจเปิดเผยในดีลลับสลับขั้วบางส่วน ย่อมมีผลทำให้มีราคาแพงขึ้น

 

ซึ่งการจัดทำข้อสอบที่มีจำนวนมาก หากจัดจ้างบางมหาวิทยาลัยดำเนินการส่งกระจายข้อสอบไปทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง แถมข้อสอบก็จะไม่ได้มาตรฐานเดียวกันอีกด้วย

 

Edunewssiam ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ผลการสอบภาค ก และ ภาค ข ในบางเขตพื้นที่การศึกษา ให้เห็นพอเป็นน้ำจิ้ม ดังนี้

 

อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2  คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 146 คนผ่านแค่ 5 คน /ภาษาไทย เข้าสอบ 77 คน ผ่านแค่ 5 คน  /ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 133 คน ผ่านแค่ 5 คน / ประถมวัย/อนุบาล เข้าสอบ 274 คน ผ่านแค่ 2 คน

 

ขณะที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 49 คน ผ่าน 27 คน /ภาษาไทย เข้าสอบ 26 คน ผ่าน 11 คน / ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 52 คน ผ่าน 26 คน / ประถมวัย/อนุบาล เข้าสอบ 121 คน ผ่าน 19 คน

 

มาดูกลุ่มวิชาเกษตรกรรม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร เข้าสอบ 61 คน ไม่มีผู้ใดสอบผ่าน และ เขตพื้นที่ประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 เข้าสอบ 55 คน ทั้ง 2 เขต ก็ไม่มีผู้ใดสอบผ่าน เช่นกัน

 

ขณะที่ กลุ่มวิชาเกษตรกรรม เขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) เขต 15 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) เข้าสอบ 183 คน สอบผ่าน 35 คน

 

แต่เมื่อมาดูเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มเขตตรวจราชการ คลัสเตอร์ เขต ๑๕ จะพบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ยังมีการเรียนการสอนรับผิดชอบกลุ่มวิชาเกษตรกรรมอยู่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จึงทำให้มีองค์ความรู้ในการตั้งโจทย์กับผู้เข้าสอบ

 

 

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตตามมาว่า มหาวิทยาลัยพื้นที่ออกข้อสอบบางแห่ง อาจไม่มีการเปิดการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวจริงจังหรือทิ้งร้างมานาน จึงขาดองค์ความรู้หรือไม่  

 

จึงกลายเป็นการถามหาศึกษานิเทศก์ในเขตพื้นที่ ที่มีอยู่ น่าจะมีส่วนสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมออกข้อสอบอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากรู้ถึงสภาพการคัดสรรคนเข้ามาเป็นครูในเขตตนเอง แต่กลับไร้บทบาทถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

 

ที่สำคัญ หากไปดูบทบาทและภารกิจหลักมหาวิทยาลัยโดยแท้แล้ว คงมิใช่ให้ออกมาในลักษณะเหมาจ่ายรับจ้างดังกล่าว จึงทำให้บางแห่งเกิดความผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ เกิดความเสียหาย ได้คนที่ไม่มีคุณภาพสู่การศึกษา ดังที่เป็นข่าวใช่หรือไม่

 

สุดท้ายแล้ว ถือเป็นบทเรียนใหญ่ที่ไม่เพียงแค่ สพฐ. เท่านั้นต้องรับผิดชอบ แต่ยังหมายรวมถึง สำนักงาน ก.ค.ศ., อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศธ. ต้องตอบคำถามและต้องกล้ารับผิดชอบ ในหลายประเด็นร้อนดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

 

มิเช่นนั้นจะกลายเป็น สอบครูผู้ช่วย ปี 66 บนจุดอ่อน “บ้ายกกำลัง 2 หรือเปล่า (วะ) ศธ"

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage