รายงานพิเศษ:องค์กรครูชนบท อาสาจ่อฟ้องดำเนินคดี สพฐ.” สอบครูผู้ช่วย'ฐานละเว้น ม.157

 

องค์กรครูชนบท อาสาจ่อฟ้องดำเนินคดี

สพฐ.” สอบครูผู้ช่วย'ฐานละเว้น ม.157   

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน EdunewsSiam : รายงานพิเศษ 

 

”สอบครูผู้ช่วย” เดือด นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ลั่น สพฐ.ทำอย่างนี้ เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ใครก็ทำได้ ความจริงแล้วสมควรต้องรับผิดชอบ ในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะขออาสาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยตนเอง ฐานละเว้นตามมาตรา 157

 

กรณีข้อสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตำแหน่งครูผู้ช่วยรอบทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ.2566 ของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ที่ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้ออกข้อสอบนั้น

 

วันนี้ก็ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่มีมาตรฐานกลาง นอกจากจะยกการเปรียบเทียบภาพรวมของผลการสอบตามที่ edunewssiam ยกให้เห็นตัวอย่างที่พบว่ามีเหตุนำไปสู่ปัญหาตามมามากมาย

 

คลิ๊กอ่านที่นี่  https://www.edunewssiam.com/th/articles/285443

 

ในรายละเอียด มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นผู้ออกข้อสอบแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ที่ได้ว่าจ้างมีดังนี้

 

 

Edunewssiam ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ผลการสอบภาค ก และ ภาค ข ในบางเขตพื้นที่การศึกษา ให้เห็นพอเป็นน้ำจิ้ม ดังนี้

 

อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2  คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 146 คนผ่านแค่ 5 คน /ภาษาไทย เข้าสอบ 77 คน ผ่านแค่ 5 คน  /ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 133 คน ผ่านแค่ 5 คน / ประถมวัย/อนุบาล เข้าสอบ 274 คน ผ่านแค่ 2 คน

 

ขณะที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 49 คน ผ่าน 27 คน /ภาษาไทย เข้าสอบ 26 คน ผ่าน 11 คน / ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 52 คน ผ่าน 26 คน / ประถมวัย/อนุบาล เข้าสอบ 121 คน ผ่าน 19 คน

 

 

หากจะมองในภาพรวม กลุ่มคลัสเตอร์คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ในเขตพื้นที่ฯ ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีผู้สอบผ่านเฉลี่ย 30% , อ.ก.ค.ศ.สศศ.ซึ่งใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มีผู้สอบผ่าน 40% และกลุ่มคลัสเตอร์ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่ง มีผู้สอบผ่านแต่ 10%

 

ทำให้เห็นว่า การกระจายให้แต่ละแห่งออกไปทำข้อสอบ แม้เป็นอ้างว่าเพื่อให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นพื้นที่ตนเองมีส่วนร่วม แต่เนื่องจาก มีการให้หลายแห่งออกข้อสอบ จึงน่าเป็นห่วงถึงมาตรฐานที่น่าเชื่อถือระดับเดียวกันทั้งประเทศหรือไม่

 

มาดูกลุ่มวิชาเกษตรกรรม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร เข้าสอบ 61 คน ไม่มีผู้ใดสอบผ่าน และ เขตพื้นที่ประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 เข้าสอบ 55 คน ทั้ง 2 เขต ก็ไม่มีผู้ใดสอบผ่าน เช่นกัน

 

ขณะที่ กลุ่มวิชาเกษตรกรรม เขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) เขต 15 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) เข้าสอบ 183 คน สอบผ่าน 35 คน

 

ขณะที่ นายอัมพร เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้สัมภาษณ์ จะเปิดทางให้บางเขตพื้นที่ฯที่บางวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่านเลย จะให้ทำเรื่องขอใช้บัญชีผู้สอบผ่านจากเขตพื้นที่ฯอื่นได้ โดยมีหลักการว่าจะต้องขอใช้บัญชีในจังหวัดเดียวกันก่อน หากไม่มีจึงขอใช้บัญชีข้ามเขตพื้นที่ฯได้ 

 

 

ทำเอา นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ถึงกับลั่นวาจาว่า สพฐ.ทำอย่างนี้เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ใครก็ทำได้ ความจริงแล้วสมควรต้องรับผิดชอบ ไล่ให้พ้น สพฐ.ด้วยซ้ำไป

 

ยิ่งการสอบครูผู้ช่วย หากลดเกณฑ์ตัดสินลงเหมือนสอบ ผอ.สพท.(ผอ.เขต.) คือตัดสินที่ 50 % ผู้เข้าสอบครูผู้ช่วยคงสอบผ่านมากกว่านี้ ( 2.35 %) อยากถามผู้มีอำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พุทธศักราช 2547 มาตรา 53 ว่า...

 

การลดเกณฑ์สอบ ผอ.เขตลงจาก 60 % คงเหลือ 50 % รู้หรือไม่ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ถือว่า ไม่มีความเป็นกลางเป็นการละเว้นอย่างไร้คุณธรรม ไม่ยึดมาตรฐานแม้แต่เกณฑ์สอบของ ก.พ.ก็ยังไช้เกณฑ์การตัดสินที่ 60 %

 

แสดงให้เห็นว่าการลดเกณฑ์ตัดสินสอบผอ.เขตพื้นที่ เป็นการลดเกณฑ์ลงเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยชัดเจน อย่างนี้ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐฐานละเว้นตามมาตรา 157 ต่อไป

 

ตนในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะขออาสาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยตนเอง

 

โดยต่างเห็นว่า ถ้าแต่ละเขตพื้นที่ฯจัดสอบโดยใช้ข้อสอบคนละชุด ก็ไม่ควรเปิดทางให้มีการยืมบัญชีผู้สอบผ่านมาเรียกบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วย เพราะมันไม่ยุติธรรม และเรียกร้องให้เปิดการสอบใหม่ โดยเอาข้อสอบส่วนกลางมาจัดสอบ จะได้เป็นธรรม เหมือนในอดีตที่ใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งดีอยู่แล้ว ไปเปลี่ยนทำไม สงสารบัณฑิตครูที่เข้าสอบ และสงสารโรงเรียนที่ขาดแคลนครูรอการสอบบรรจุครั้งนี้

 

จะมาอ้างว่า อาจทำให้ได้ครูไม่ทันใช้คงไม่ได้

  

แม้ว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะให้สัมภาษณ์ว่า การจัดสอบแข่งขันฯครูผู้ช่วย รอบทั่วไปครั้งนี้ มีเงื่อนไขผูกมัดจากหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในการออกข้อสอบ ซึ่ง สพฐ.ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้เราได้ครูตรงกับความต้องการก็ตาม

 

แต่ก็ดูเหมือนว่า...หลักเกณฑ์และวิธีการสอบครั้งนี้กำหนดตาม ว 14/2566 ในข้อ 9 เหมือนล็อคการออกข้อสอบแต่การกำหนดให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ออกข้อสอบเป็นนโยบายของ สพฐ.และ สพฐ.กำหนดไปทุกอย่าง

 

ล่าสุด อดีตแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นกับ edunewssiam เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ...เหตุแห่งความวุ่นวายการสอบครูผู้ช่วยนี้ 

 

“อกคศ.เขตพื้นที่ ไม่สามารถทำอะไรได้ และ กคศ.ไม่เคยพิจารณาข้อสอบ ไม่เคยเห็นเฉลย ไม่เคยทราบว่าค่าจ้างออกข้อสอบ ตลอดประมวลผลมหาวิทยาลัยทำอะไรให้บ้าง จึงเป็นความไม่สบายใจของ อกคศ.เขตพื้นที่ทุกคน”

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage