3 เดือน “งดเหล้าเข้าพรรษา” ขยับเป้าหมายสู่ “งดเหล้าตลอดชีวิต”

บทความพิเศษโดย  คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare

 


เข้าสู่เดือนที่
2 ของเทศกาลเข้าพรรษา และเหลืออีกราวๆ 1 เดือนเท่านั้นสำหรับฤดูกาลงดเหล้าเข้าพรรษา ในปี 2566 นี้เอง สสส.และภาคีเครือข่ายได้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาร่วม 20 ปีแล้ว และทำให้วาทกรรมนี้ยังมีคุณค่ากับสังคมไทยมาโดยตลอด เพื่อช่วยให้ประชาชนลด ละ เลิก เหล้าในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตของชาวไทย

Healthy sobriety season “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า” งดเหล้าเข้าพรรษา แคมเปญที่ สสส.และภาคีเครือข่ายได้ชวนรณรงค์ โดยมีกรอบการทำงาน 8 มิติ ได้แก่ มาตรการนโยบายเอื้อสังคม สุขปลอดเหล้า สร้างต้นแบบสุขปลอดเหล้า สร้างค่านิยมสังคมสุขปลอดเหล้า สร้างการรู้เท่าทันผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ชุมชนช่วยเลิกและชมรมเพื่อนร่วมทาง ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์สุขปลอดเหล้า และทีมงานสุขปลอดเหล้าที่เข้มแข็ง

ในปีนี้ สสส. รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ปีนี้ งดเหล้าเข้าพรรษา ทุกเพศ ทุกวัย” เป็นการส่งสัญญาณสื่อสารว่างดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้มาถึงแล้ว ขอเชิญชวนทุกเพศ ทุกวัย มาใช้โอกาสช่วงเวลา 3 เดือน เปิดประตูสู่ฤดูกาลงดเหล้าเข้าพรรษา จนกระทั่งถึงสามารถ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดชีวิต”   ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว

มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคม สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ได้วิจัยเฉพาะไปที่ช่วงเข้าพรรษา พบว่า มีผู้ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ตลอดพรรษาถึง 17.8% บางส่วนงดบางเวลา และลดปริมาณการดื่มลง เทียบแล้ว มีผู้เข้าร่วมถึง 9.3 ล้านคน ประหยัดค่าใช้จ่ายต่อหัวเท่ากับ 1,543 บาท หรือร่วม 5 พันกว่าล้านบาท และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 57 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่มาจากแคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา


ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า สคล. ร่วมกับ สสส. รณรงค์สร้างสังคมสุขปลอดเหล้า และโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาแล้ว 20 ปี สร้างกลไกการทำงานทั้งระดับต้นน้ำ ได้แก่ การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กเยาวชน และรู้ทันการตลาดของธุรกิจ ระดับกลางน้ำ ได้แก่ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในงานบุญประเพณีเทศกาลทั้งงานศพ งานบวช งานผ้าป่ากฐิน งานกาชาด งานเทศกาลเป็นงานปลอดเหล้าปลอดภัย และให้ปฏิบัติตามกฎหมายสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การกำหนดวันเวลาขาย การไม่ขายให้เด็กเยาวชน และระดับปลายน้ำ ได้แก่ การชวนช่วยเชียร์ให้ผู้ดื่มลดละเลิก และสร้างชุมชนคนสู้เหล้าทั่วประเทศ ปัจจุบัน สคล. มีสมาชิกกว่า 7,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งในทศวรรษต่อไป สคล. จะเน้นสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ชุมชน และพัฒนานวัตกรรมการรณรงค์ใหม่ ๆ ตอบโจทย์สถานการณ์ใหม่ต่อไป

 

ฤดูกาลสุขปลอดเหล้าเข้าพรรษานี้ มีแนวทางสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.เน้นรณรงค์ที่ตอบโจทย์ทุกวัย กลุ่มสนใจ กลุ่มพื้นที่ ความเชื่อ วิถีชีวิต และเคารพทางเลือกของแต่ละบุคคล 2.เน้นมิติความสุขจากการลดละเลิกการดื่ม โดยเริ่มจากเข้าพรรษา 3.เน้นสื่อสารให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เลือกรับปรับใช้กับตัวเอง 4.เพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่นักดื่มหน้าใหม่คือผู้หญิงและเยาวชนที่มีแนวโน้มการดื่มมากขึ้น โดยได้นำเสนอบุคคล 8 สไตล์ ทั้งตัวแทนผู้หญิง เยาวชนรุ่นใหม่ นักกีฬา ครอบครัว คนในเมือง ตัวแทนชุมชน ในการใช้ชีวิตที่ห่างไกลแอลกอฮอล์และมีความสุข

 

 

น.ส.พิมพ์มณี เมฆพายัพ หัวหน้าโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายในปีนี้ว่า เครือข่ายฯ ในพื้นที่ชวน ช่วย ชมเชียร์เพื่อนผู้ดื่มในชุมชนสุขปลอดเหล้าทั่วประเทศ ได้แก่ ระดับชุมชนคนสู้เหล้า 400 แห่ง อำเภอรณรงค์ 100 แห่ง ประชาคมงดเหล้าทุกจังหวัด โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้าในโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง โครงการปลูกพลังบวกในกลุ่มสถานศึกษาปฐมวัยกว่า 700 แห่ง และมีข้อแนะนำการสร้างเสริมพลังตับ พลังชีวิต การใช้บัญชีครัวเรือนแก้ปัญหาหนี้สินและค่าเหล้า 

 

ยังมีกิจกรรมฟื้นฟูความรักความสัมพันธ์กับตัวเองและครอบครัว และสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้หญิงเป็นแกนนำรณรงค์งดเหล้าช่วยเชียร์คนที่กำลังเลิกเหล้า เพิ่มพื้นที่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ในเมือง ภายใต้แคมเปญติดได้ (เลิกได้) สุขใจด้วยพบกับ 12 workshop ตลอด 12 สัปดาห์ กิจกรรมฟื้นฟู คืนดีกับร่างกาย-จิตใจให้สมดุล สร้างทางเลือกใหม่ให้ชีวิตฉบับสุขปลอดเหล้า โดยติดตามการเข้าร่วมได้ที่เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายงดเหล้า

 

 

 

เคล็ดลับสำหรับคนเลิกเหล้า

หากคุณเป็นภรรยา/สามี 

-อดทนและให้กำลังใจ คอยเคียงข้างอีกฝ่าย ขณะเลิกเหล้า

-หากอีกฝ่ายหงุดหงิด ขอให้ใจเย็นและพูดให้กำลังใจ เช่น ฉันเชื่อว่าเธอทำได้แน่ ๆ และจะเป็นกำลังใจให้ตลอดนะ

-เลี่ยงการพูดจาดูถูกหรือมีปากเสียงกัน

-คอยเปิดใจพูดคุยกับอีกฝ่ายถึงผลเสียของการดื่ม เช่น เสียบุคลิก ส่งผลต่อสุขภาพ เป็นต้น

 

หากคุณเป็นลูกหลาน

-คอยเป็นกำลังใจให้พ่อแม่เลิกเหล้า พูดจูงใจและบอกข้อเสียของการดื่ม 

-บอกว่ารักพ่อแม่มากเพียงใดและหมั่นขอให้หยุดดื่ม

-คอยเตือนและขัดขวางเมื่อพ่อแม่ไปซื้อเหล้ามาดื่ม

-สร้างเงื่อนไขหรือสัญญาต่อรองว่าถ้าพ่อแม่เลิกดื่ม ตัวเองจะทำตัวดีขึ้น เช่น จะตั้งใจเรียน จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เป็นต้น

-ลองหากิจกรรมทำร่วมกันแทนการดื่มเหล้า

 

หากคุณเป็นเพื่อน 

-เลิกชวนดื่ม และอย่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นของขวัญ

-ให้กำลังใจเพื่อนที่คิดจะเลิกดื่ม และแสดงให้เพื่อนรู้ว่า รักเพื่อนไม่จำเป็นต้องดื่มเหล้าก็ได้ 

 

ไม่เพียงแค่ช่วงเวลาของฤดูกาลเข้าพรรษาเท่านั้น ที่ สสส.และภาคีเครือข่ายหวังให้ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะดีไปกว่านั้นหากหลังจากครบ 3 เดือนแล้ว ผู้ที่ดื่มเหล้าสามารถสามารถเลิกเหล้าต่อเนื่องได้ติดต่อกันไปจน 3 ปี และสามารถเลิกได้ตลอดชีวิต โดย สสส.สนับสนุนสื่อ ความรู้ คำแนะนำ ซึ่งสามารถปรึกษาได้ที่ โทร 1413 สายด่วนเลิกเหล้า หรือสแกนคิวอาร์โค้ดเพิ่มเพื่อนกับน้องตั้งใจ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ www.1413.in.th